ทำไมคนสมัยนี้ไม่จงรักภักดีองค์กร
- Published: Jul 6, 2016 17:41
- Writer: Post Today | 1,593 viewed
"ผมสังเกตว่าคนหนุ่มสาวสมัยนี้นิยมเปลี่ยนงานกันเป็นว่าเล่น บางคนทำงานแค่ปีครึ่งหรือสองปีก็เปลี่ยนงานใหม่ ลองถามดูว่ามีปัญหาอะไรหรือเปล่าถึงเปลี่ยนงาน ได้คำตอบว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร แค่เผอิญได้รับข้อเสนอในการทำงานที่ดีกว่าเดิม เช่น ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นหรือได้รับตำแหน่งที่สูงขึ้นกว่าเดิม จึงตัดสินใจเปลี่ยนงาน"
ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมในวงการธุรกิจหลายอย่างเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต ซึ่งมักไม่ค่อยจะเปลี่ยนงานหรือกลัวที่จะเปลี่ยนงานและมักจะเปลี่ยนงานเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วเท่านั้น
ความเปลี่ยนแปลงที่ผมคิดว่าสำคัญประการแรกที่ทำให้คนหนุ่มสาวสมัยนี้เปลี่ยนงานบ่อยๆ น่าจะมีสาเหตุที่องค์กรในภาคธุรกิจปัจจุบันเปลี่ยนค่านิยมจากการให้ความสำคัญในการดูแลทุกข์สุขของพนักงานเหมือนคนในครอบครัวเดียวกันเหมือนในอดีต แต่องค์กรสมัยนี้ให้ความสำคัญต่อเป้าหมายทางธุรกิจเป็นหลัก
ฝรั่งเองบัญญัติศัพท์คำว่า ทรัพยากรมนุษย์ แทนคำว่า บุคลากร หรือบุคคลขึ้นมา กล่าวคือให้ความสำคัญต่อมนุษย์เท่ากับเงิน เครื่องจักรเทคโนโลยี ฯลฯ นี่เป็นทรัพยากรของธุรกิจ ทั้งๆ ที่คนหรือมนุษย์นั้นมีชีวิตจิตใจมีความคิด ความรู้สึกที่ทรัพยากรประเภทอื่นไม่มี โดยวัดประสิทธิภาพจากเป้า จากผลผลิต ถ้าทำงานไม่เข้าเป้าไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ซึ่งบ่อยครั้งตัวผู้บังคับบัญชาเองก็เป็นสาเหตุของปัญหาด้วย พนักงานจะตกเป็นเป้าถูกตักเตือนว่ากล่าว ลดขั้น ลดเงินเดือน โดยประเมินจากตัวชี้วัดประสิทธิภาพหรือเรียกให้หรูหน่อยคือประเมินแล้วตกเคพีไอ พนักงานถูกกดดันจนไม่เป็นตัวของตัวเอง บางทีถูกกดดันซ้ำขึ้นมาจากลูกค้าที่ถูกยัดเยียดให้ซื้อสินค้าหรือบริการบางอย่าง เพราะพนักงานพยายามขายทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้าทั้งๆ ที่เขาไม่ต้องการ
ก็เมื่อองค์กรไม่ให้ความสำคัญต่อความเป็นมนุษย์ของพนักงานมากไปกว่าทรัพยากรประเภทอื่น ธุรกิจจ่ายเงินเดือนค่าจ้างให้เหมือนกับการเติมน้ำมันใส่เครื่องจักร แล้วองค์กรจะคาดหวังให้พนักงานมีความจงรักภักดี ซื่อสัตย์สุจริต อุทิศตัวให้กับองค์กรได้อย่างไร ใช่ไหมครับ
สมัยก่อนมีคำพูดประโยคหนึ่งว่า คนเราทำงานด้วยใจ เรื่องของผลตอบแทน เงินเดือน ตำแหน่งเป็นเรื่องรองลงมา และถ้าองค์กรใดสามารถสร้างความผูกพันฉันคนในครอบครัวเดียวกันได้ เคพีไอก็จะเป็นแค่เข็มทิศหรือแนวปฏิบัติในการทำงานของบริษัทที่ให้พนักงานทำงานในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ผมมีความเชื่อว่าเมื่อใดที่พนักงานหรือคนในองค์กรมีความจงรักภักดีต่อองค์กร เพราะองค์กรปฏิบัติต่อเขาในฐานะที่เป็นคนที่มีชีวิตจิตใจ เขาจะมีความสุขในการทำงานและช่วยกันทำงานเป็นทีม ผลงานที่ออกมาจะไม่มีทางด้อยไปกว่าการบังคับให้ทำตามเป้าอย่างแน่นอน
กูรูท่านหนึ่งที่ผมรู้จักบอกผมว่า การวัดผลงานจากเป้า จะทำให้การทำงานได้ผลงานสูงสุดไม่ลำเอียงเลือกที่รักมักที่ชัง
ประเด็นนี้ผมเห็นด้วยประการหนึ่ง แต่ที่น่าคิดคือการตั้งเป้าตามเคพีไอนั้นมีความเป็นธรรมต่อคนในองค์กรที่เป็นฝ่ายปฏิบัติมากน้อยเพียงใด พนักงานเหล่านั้นมีโอกาสหรือมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายด้วยหรือไม่ เพราะตัวแฝงในการทำงานนั้นมีหลากหลาย ไม่เหมือนกันทั้งหมด เช่น พฤติกรรมของลูกค้าแต่ละงานไม่เหมือนกัน ความสนับสนุนจากหน่วยเหนือเท่าเทียมกันหรือไม่ การกำหนดเป้าหมายผลผลิตของคนเหมือนเครื่องจักรเป็นธรรมจริงหรือไม่ หรือเป็นสาเหตุที่ทำให้พนักงานถูกกดดันให้กระทำการทุจริตในองค์กร เพื่อสร้างตัวเลขสร้างผลงานให้ได้ตามเป้า และพยายามปกปิดกลบความเสียหายเพราะกลัวว่าจะตกเคพีไอ และเป็นสาเหตุที่ทำให้คนสมัยนี้ไม่ลังเลที่จะเปลี่ยนงานเมื่อโอกาสมาถึงหรือไม่
สำหรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอีกอย่างหนึ่ง คือคนหนุ่มสาวสมัยนี้เข้าถึงข้อมูลและความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจได้ง่ายกว่าสมัยก่อน ซึ่งข้อมูลทางธุรกิจทั้งในระดับจุลภาคและมหภาคนั้นอยู่ในมือของผู้บริหารระดับสูง พนักงานระดับกลางหรือโอกาสที่เปิดให้เปลี่ยนแปลงหน้าที่การงานอย่างเก่งถ้าพอรู้ภาษาอังกฤษก็จะหาโอกาสหางานใหม่จากคอร์สับประเภทรับสมัครงานในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเอาเอง คนสมัยนี้เป็นคนที่มีการเรียนรู้และกล้าแสดงออกและพร้อมที่จะออกไปสู่โลกกว้างรับความเสี่ยงไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง พร้อมจะรับเพื่อนใหม่และติดต่อกับเพื่อนเก่าได้ทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ถูกตัดขาดเหมือนในอดีต โอกาสที่จะเปลี่ยนงานบ่อยๆ จึงมีมากกว่า
ประการสุดท้ายที่ผมนึกออก คือ ค่านิยมของคนในสังคมที่นิยมการเรียนลัดรวยเร็วในความสำคัญต่อผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินมากกว่าความมั่นคงในอาชีพการงาน และปัจจุบันว่าไปแล้วยกเว้นข้าราชการ อาชีพอื่นไม่มีอาชีพใดมั่นคงไปกว่า จึงทำให้เงินหรือเงินเดือนกลายเป็นปัจจัยหลักในการทำงานแทนการทำงานเพื่อความมั่นคงในอาชีพ หรือสะสมประสบการณ์ในการทำงาน
องค์กรทางธุรกิจในเมืองไทยคงต้องหันมาประเมินวิธีการบริหารงานบุคลากรใหม่ก่อนที่จะสูญเสียบุคลากรให้องค์กรธุรกิจต่างประเทศ เมื่อประเทศไทยเข้าสู่อาเซียนอย่างเต็มรูปแบบและมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี เพราะเราคงไม่สามารถหาคนสิงคโปร์มาทำงานแทนคนไทยได้ทั้งหมด แต่คนไทยนั้นสามารถทำงานแทนคนสิงคโปร์ได้ทั้งหมดอย่างแน่นอนในทุกระดับ
ผมเชื่อว่าการรักษาคนขององค์กรไว้และทำให้คนในองค์กรอุทิศแรงกายและแรงใจให้กับการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ไม่ใช่การวัดผลหรือบังคับโดยตัวเลขหรือเคพีไอ แต่จะต้องทำให้คนในองค์กรจงรักภักดีต่อองค์กรด้วยความสมัครใจ
ไม่ต้องกลัวว่า ถ้าไม่ชี้เป็นชี้ตายด้วยเคพีไอหรือเป้าแล้วจะทำให้เกิดการเล่นพวกหรือสร้างความไม่เป็นธรรมในองค์กร เพราะคนในองค์กรจงรักภักดีต่อองค์กรก็ต่อเมื่อเขามองเห็นแล้วว่าองค์กรของเขาให้ความเป็นธรรมแก่เขาแล้วเท่านั้น
ผมเข้าใจครับว่าเด็กเหล่านี้ถูกบีบให้มาขายประกันให้คนที่จะมากินข้าวในศูนย์การค้าเพราะถูกบีบจากเป้าเคพีไอ แต่ตัดใจช่วยซื้อไม่ได้เพราะกลัวถูกกล่าวหาว่าแก่แล้วยังถูกเด็กหลอก ก็หวังว่าแกคงจะขายให้ใครได้บ้างจะได้ไม่ตกเคพีไอ สงสารจริงๆ ครับ ?