Bangkok post> Jobs > Career guide

ภาวะเครียดที่สัมพันธ์กับงาน

     เริ่มต้นวันทำงาน มาลองสำรวจตัวเองกับภาวะ “เครียด” ที่สัมพันธ์กับการทำงาน (Work-Related Stress) ปฏิกิริยาในทางลบที่เกิดขึ้นเมื่องานมากเกินความสามารถในการจัดการ

     การมีความกดดันในที่ทำงานบ้างบางครั้งเป็นสิ่งที่ดี เพราะช่วยให้ปฏิบัติงานได้ดีขึ้นและเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งที่จะมาท้าทาย ปัจจัยของความเครียดที่สัมพันธ์กับการทำงาน เช่น สภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่ดี มีเสียงรบกวน หรือแสงสว่างไม่เพียงพอ การทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ปริมาณงานมากไป การอยู่ภายใต้แรงกดดันของเวลาส่งงาน หรือทำงานที่ไม่ตรงกับทักษะความสามารถ

     อาการที่เกิดขึ้น เช่น มีความรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถรับมือกับความเครียดได้ ไม่สามารถควบคุมสมาธิ ขาดความมั่นใจ ไม่มีแรงจูงใจ ขาดความรับผิดชอบ หรือ ผิดหวังกับตัวเอง อาจมีอาการด้านอารมณ์ เช่น ความรู้สึกในทางลบ ซึมเศร้า ขี้หงุดหงิด โกรธง่าย รู้สึกพ่ายแพ้ อารมณ์เปลี่ยนแปลง และอาการทางด้านร่างกาย ได้แก่ ท้องเสีย หรือท้องผูก อาหารไม่ย่อย ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก ปวดข้อ ปวดหลัง ทั้งนี้ อาจมี พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น กินอาหาร มากขึ้นหรือน้อยลง นอนหลับมากหรือน้อยไป แยกตัวเองจากสังคม ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือใช้ยาเสพติดเพื่อผ่อนคลาย ส่วนอาการที่มักแสดงออกคือ เร่งรีบ ทำสิ่งต่างๆ พยายามทำหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน ไม่ยอมหยุดพัก ลืมกินอาหารเที่ยง นำงานมาทำที่บ้าน ไม่มีเวลาออกกำาลังกาย หรือพักผ่อนหย่อนใจ ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวน้อยลง ไม่ใช้วันหยุดพักผ่อนที่มี

     แนวทางการรักษานั้น ต้องพยายามคิดว่า อะไรที่ทำให้รู้สึกเครียดในที่ทำงาน และอะไรจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น อาจต้องมานั่งคุยปัญหากับเพื่อนร่วมงาน หรือปรับสิ่งแวดล้อม ในที่ทำงานให้รู้สึกสบายขึ้น พัฒนาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานเพื่อให้เกิด เครือข่ายช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ปฏิเสธบ้างก็ได้ถ้าไม่สามารถรับผิดชอบงานได้ ออกไปเดินเล่น หรือออกไปสูดอากาศ บริสุทธิ์ในช่วงพัก หรือหลังจากนั่งทำงานนานหลายชั่วโมง

     ลดการดื่มแอลกอฮอล์เพราะการดื่มมากไปจะทำาให้รู้สึกแย่ลง และในระยะยาว จะทำให้เครียดมากขึ้น ทำงานตามจำนวนชั่วโมงปกติและหยุดพักหรือใช้วันหยุด ตามสิทธิ์ที่มีรักษาสมดุลคุณภาพของงานและชีวิต อย่าละเลยชีวิตครอบครัวหรือความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น สังสรรค์กับเพื่อน ออกกำลังกาย ควบคุมจิตใจ นั่งสมาธิ โยคะ

     ทั้งนี้ อาจเลือกการรักษาด้วยยา โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความเครียด และควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ เช่น การฝังเข็ม นวดกดจุด ตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า การบำบัดด้วยการนวด หรือการรักษาด้วยน้ำมันหอมระเหย หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่รู้สึกสบายๆ จะช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ปล่อยวาง ลืมเรื่องที่วิตกกังวล เป็นการชาร์จพลังด้านบวกให้กับชีวิต