Bangkok post> Jobs > Career guide

จะเป็นพีอาร์ที่ดี มีครบ 5 ข้อนี้แล้วหรือยัง?

 

    มีทิปส์ดีๆ มาฝากสาวๆ ที่กำลังอยากทำงานเป็นพีอาร์สาวคนเก่งหรือเป็นอยู่แล้ว แต่อยากเก่งขึ้นไปอีก เราเลยไปถามเทคนิคจากพีอาร์แบรนด์ดังอย่างคุณบิ๊ก กิตติศักดิ์ อนันต์สิทธิโชค LUXE PR and Communications Manager หรือผู้จัดการฝ่ายสื่อสารและการประชาสัมพันธ์แผนกผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูง มาตามนี้เลย

    1. สื่อสารให้เข้าใจ: พีอาร์ที่ดีไม่จำเป็นต้องพูดเก่ง แต่ต้องสื่อสารให้เป็น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ จะพูด เขียน พิมพ์ รึแม้แต่วาด ก็ต้องทำให้คนที่เรากำลังจะสื่อสารด้วยเข้าใจว่าเราต้องการจะสื่ออะไร เพราะถ้าต่อให้พูดเก่งประเภทลิงหลับ แต่พี่ๆ นักข่าว พนักงาน ผู้ถือหุ้น ฯลฯ ไม่เข้าใจว่าเราจะบอกอะไรกับเขาเหล่านั้นแล้วล่ะก็ ไม่ใช่แค่จะสร้างความรำคาญแต่ผลงานก็ไม่มีทางปรากฎนะครับ วิธีการสำรวจตัวเองง่ายๆ คือ ลองพูดกับตัวเอง อ่านสิ่งที่ตัวเองเขียน หรือถามจากเพื่อนๆ รอบข้างที่จริงใจดูว่าเราพูดจารู้เรื่องหรือไม่ และเรามักจะได้ในสิ่งที่ต้องการครบถ้วนตามที่คาดหวังหรือเปล่า ถ้าไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ล่ะก็ รีบหาทางแก้ไขจุดบกพร่องในการสื่อสารของตัวเองโดยด่วน 

    2. แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ : แน่นอนว่าความสำเร็จของงานส่วนใหญ่มักเริ่มจากการวางแผนที่ดีเสมอ แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็มักจะเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเช่นกัน ดังนั้นประสบการณ์และการตัดสินใจแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้นๆ ก็เป็นอีกหนึ่งข้อที่เราต้องสำรวจตัวเองว่ามีหรือไม่ ยิ่งถ้าเป็นคนยึดติดกับแผนการที่วางไว้ ทั้งยังตกใจประหม่าเมื่อเจอเหตุการณ์ประเภทนี้จนทำอะไรไม่ถูกแล้วล่ะก็ ลองเริ่มฝึกฝนจากการแก้ปัญหาอื่นๆ ในชีวิตประจำวันด้วยการตั้งสติดูก่อนเสมอๆ จำไว้ว่า สติมาปัญญาเกิด

    3. ความจริงใจ : สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ไม่ต้องลงทุนไป ร่ำเรียนจากที่ไหน และไม่ต้องใช้เวลาฝึกฝน ก็คือความจริงใจกับคนที่เราจะสื่อสารด้วยเสมอ พีอาร์บางคนมักจะใช้วิธีการให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการด้วยการบิดเบือนความ จริง ไม่ว่าจะเพื่อสร้างประเด็นข่าว เพื่อดึงดูดให้สื่อมาร่วมงาน หรือจะเพื่ออะไรก็แล้วแต่ จนทำหลายๆ คนมองว่าอาชีพนักประชาสัมพันธ์มักเป็นคนโกหก ทว่าหากมองในระยะยาวแล้วล่ะก็ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ ถ้าเกิดขึ้นซ้ำๆ จนเป็นที่รู้กันว่าพีอาร์คนนี้เชื่อถือไม่ได้ ต่อไปก็จะไม่มีใครเชื่อคุณอีก ลองปรับเปลี่ยนวิธีคิดสักนิด แค่เอาใจเขามาใส่ใจเรา ตอบตัวเองให้ได้ว่าเราชอบคนประเภทไหน คนแบบไหนที่เราอยากช่วยเหลือ เราก็ปฏิบัติต่อคนที่เราจะสื่อสารด้วยแบบนั้น

    4. ชอบหาความรู้ และช่างสังเกต : ปฏิเสธไม่ได้เลยว่างานประชาสัมพันธ์เป็นงานที่ต้องติดต่อสื่อสารเพื่อโน้ม น้าวใจ และในบางครั้งก็เป็นการเจรจาต่อรอง การที่จะเปิดทางเข้าไปนั่งอยู่ในใจคนที่เราจะสื่อสารด้วย เราต้องรู้จักการเปิดใจ ความใฝ่รู้และช่างสังเกตจะช่วยทำให้เราเป็นคนรู้รอบ ถามตอบเข้าใจ ช่วยให้การสนทนาสามารถดำเนินไปได้อย่างลื่นไหล เราไม่จำเป็นต้องรู้ไปซะหมดทุกอย่าง แต่รู้ให้รอบด้าน ที่สำคัญฝึกใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ที่มีในการสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัวอยู่เสมอ 

    5. ความรักในงานที่ทำ : งานประชาสัมพันธ์เป็นงานที่ต้องสร้างภาพลักษณ์ สร้างแรงจูงใจให้กับคนรอบข้างอยู่เสมอ จุดเริ่มต้นที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ได้ คือ คุณต้องเริ่มจากความรักในงานที่คุณทำซึ่งอยู่ในตัวคุณ ไม่ต้องหาจากที่ไหน แค่ลองค้นหาเสน่ห์ของงานที่เราทำอยู่ให้เจอ แล้วเน้นย้ำความสุขในการที่ได้ทำมันทุกๆ วัน ถ้าเรารักในงานที่เราทำอย่างสุดหัวใจ เราจะรู้สึกว่าจะเหนื่อยหนักหรือปัญหาเยอะแค่ไหนเราก็จะผ่านมันไปได้อย่าง สวยงาม เพราะเราไม่ได้กำลังทำงานแต่เรากำลังทำสิ่งที่เรารักในทุกๆ วัน