Bangkok post> Jobs > Career guide

10 ทักษะที่นายจ้างมองหาจากพนักงาน

  • Published: May 11, 2016 18:28
  • Writer: Post Today | 1 viewed

10 ทักษะที่นายจ้างมองหาจากพนักงาน


    เวลานี้ผู้เขียนกำลังรู้สึกหนักใจกับปัญหาเรื่องที่บัณฑิตจบปริญญาตรีในบ้านเราติดอับดับเป็นกลุ่มคนว่างงานมากกว่าผู้จบการศึกษาระดับที่ต่ำกว่า เช่น ผู้จบการศึกษาสายวิชาชีพระดับ ปวช. ปวส. ตลอดจนผู้จบมัธยมและประถมศึกษา ทั้งนี้จากตัวเลขเมื่อต้นปี ระบุว่า ผู้จบปริญญาตรีว่างงานถึงประมาณร้อยละ 16 ของบรรดาผู้ว่างงานทั้งหมด ทั้งนี้บัณฑิตผู้จบสายสังคมศาสตร์หางานทำยากกว่าผู้ที่จบสาขาวิศวกรรมศาสตร์ บัญชี คอมพิวเตอร์ ไอที (Information Technology) และการตลาด สาเหตุอื่นๆ ที่เราน่าให้ความสนใจ ก็คือ นายจ้างมองว่าบัณฑิตมักเลือกงาน ถ้าได้งานที่ “ดูไม่ดี” ในสายตาของพวกเขา เขาก็จะไม่ทำงาน เช่น งานเป็นพนักงานขาย แคชเชียร์ งานบริการต่างๆ เช่น งานเสิร์ฟอาหาร งานรับโทรศัพท์เพื่อบริการหรือแก้ปัญหาให้ลูกค้า (งาน Call Center) เพราะบัณฑิตเหล่านี้มองว่างานให้บริการเป็นงานที่ต้องรองรับอารมณ์ลูกค้า เหมือนพวกเขามีเจ้านายหลายคน พวกเขาไม่ชอบมีนายหลายคน แต่อยากเป็นหัวหน้าเพราะมีปริญญา นอกจากนี้บัณฑิตหลายคนที่ไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องได้แต่งานดีๆ แต่ก็ยังหางานไม่ได้สักทีเป็นเพราะพวกเขาไม่มีทักษะที่นายจ้างต้องการ หากเราสามารถปรับปรุงพัฒนานิสิตนักศึกษาทั้งหลายให้พวกเขามีทักษะที่นายจ้างต้องการ ปัญหาเรื่องบัณฑิตตกงานและปัญหาองค์กรขาดพนักงานคนเก่งก็คงจะบรรเทาเบาบางลงไป

    อันที่จริงไม่ใช่มีแต่บัณฑิตจบใหม่ที่ขาดทักษะในการทำงานที่นายจ้างต้องการเท่านั้น บรรดาลูกจ้างที่มีงานทำอยู่ก็ใช่ว่าจะมีทักษะครบตามที่นายจ้างปรารถนา แต่เป็นเพราะว่านายจ้างขาดคนทำงานจริงๆ ก็เลยต้องทำใจจ้างคนที่พอใช้ได้ไปก่อน แล้วก็หวังว่าวันหนึ่งจะหาคนดีมาเสียบแทนให้ได้เสียที ก็ได้แต่คอยหาย...คอยหาย... ส่วนข้างลูกจ้างก็ใช่ว่าจะแฮปปี้นะคะ เพราะเขาก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่า ทำไมนายจ้างถึงไม่ค่อยขึ้นเงินเดือนหรือเลื่อนตำแหน่งให้เสียที ได้แต่คอยหาย...คอยหาย...เหมือนกัน ต่างคนต่างคอย ต่างคนก็ไม่สมหวัง

    อยากจะบอกว่า ถ้ามัวแต่คอย แล้วทั้งนายจ้าง ตัวลูกจ้าง และผู้จบการศึกษาทุกระดับไม่ลงมือทำอะไรสักอย่าง ก็คงจะต้องผิดหวังกันเรื่อยไปทุกฝ่าย ที่ว่าควรจะอะไรสักอย่าง ผู้เขียนหมายถึงการพัฒนาค่ะ จะเป็นนายจ้างพัฒนาลูกจ้าง สถาบันการศึกษาพัฒนานักเรียนนิสิตนักศึกษา หรือพนักงานอยากพัฒนาตนเอง ล้วนเป็นเรื่องที่ควรทำ และควรทำเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้เพื่อที่บุคลากร องค์กร และประเทศของเราจะมีความก้าวหน้าและผลผลิตเพิ่มมากขึ้นทันประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่กำลังขึ้นแซงเราไปเรื่อยๆ จนเหลือไม่กี่ประเทศที่ล้าหลังกว่าเราแล้ว ทั้งนี้ก่อนที่เราจะเริ่มการพัฒนา เราควรศึกษาก่อนว่านายจ้างปัจจุบันเขามองหาทักษะอะไรจากพนักงาน ซึ่งผู้เขียนขอบอกว่านายจ้างทั่วโลกเขามองหาในสิ่งที่คล้ายๆ กันค่ะ ไม่ต้องแปลกใจนะคะ เพราะความที่โลกของเราในปัจจุบันเป็นโลกที่การสื่อสารก้าวหน้ามาก อะไรที่เกิดขึ้น ณ ที่ใดที่หนึ่งของโลก ภายในเวลาไม่กี่นาทีหรือชั่วโมง ทั่วโลกก็จะได้รับรู้เรื่องราวนั้นกัน และในแง่ของการทำธุรกิจ ธุรกิจทั่วโลกก็เดินหน้าสู่ความเป็นโลกานุวัตน์กันมากขึ้นๆ ดังนั้นพนักงานที่ทำงานในยุคโลกานุวัตน์และโซเชียลมีเดียเบิกบานก็ย่อมต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานในการทำงานที่ไม่หนีห่างกันมาก

    ผู้เขียนได้ประมวลข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นองค์กรทั่วโลกและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของสถาบัน Manpower เรื่อง สาเหตุที่องค์กรไม่สามารถสรรหาพนักงานที่มีความสามารถมาทำงาน โดยจัดทำเมื่อประมาณปีกว่ามานี้ และข้อมูลการสำรวจของ NACE (The National Association of Colleges and Employers) ที่จัดทำเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ สรุปได้ว่าทักษะที่นายจ้างทั่วโลกมองหาคล้ายๆ กันคือ

  • ความสามารถในการเป็นผู้นำทีม และทำงานเป็นทีม (รู้จักเป็นผู้ตามที่ดี ไม่ใช่นำเป็นอย่างเดียว)
  • ความสามารถในการตัดสินใจและแก้ปัญหา (ไม่ใช่เป็นแต่ทำตามคำสั่ง)
  • ความสามารถในการวางแผน จัดระบบงาน และจัดลำดับความสำคัญของงาน (Prioritize)
  • ความสามารถในการสื่อสารกับบุคคลทั้งในและนอกองค์กร
  • ความสามารถในการจัดหาและประมวลข้อมูล (Obtain and Process Information)
  • ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative Data)
  • ความสามารถเชิงเทคนิคที่เกี่ยวกับหน้าที่งานนั้นๆ โดยเฉพาะ เช่น ความสามารถเชิงช่าง หรือการทำบัญชี เป็นต้น
  • ความสามารถในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ (Computer Software Programs)
  • ความสามารถด้านภาษาทั้ง พูด เขียน อ่าน ต้องสามารถเขียนและแก้รายงาน (Reports) ต่างๆ ได้
  • ความสามารถในการขายและมีอิทธิพล (Influence) จูงใจผู้อื่น ทั้งนี้ความสามารถในการขาย ไม่ได้หมายความว่าขายสินค้าแต่เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการขายความคิดด้วย


    ทั้งนี้ ทักษะหรือความสามารถหลายอย่างที่ระบุมาเบื้องต้นเป็นความสามารถที่อาจเรียนรู้ได้จากสถานศึกษา เช่น ความสามารถเชิงเทคนิค ภาษา การพูด เขียน อ่าน โดยเฉพาะเรื่องการประมวลข้อมูลซึ่งเป็นพื้นฐานของการวิจัย (Research) ที่เป็นทักษะจำเป็นต้องเรียนรู้จากสถานศึกษา มิฉะนั้นคงจะยากหน่อยในการที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง แต่ก็มีอีกหลายทักษะที่สามารถเรียนรู้ฝึกปรือได้ด้วยตนเองโดยการหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต เช่น การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ การเขียนรายงาน เขียนจดหมายธุรกิจ และสุดท้ายคือทักษะที่ต้องฝึกจากประสบการณ์ คือทักษะในการสื่อสารที่เน้นการพูด การนำทีม และทำงานเป็นทีม ทักษะในการขายและจูงใจคน ทักษะเหล่านี้ควรมีครูฝึกหรือโค้ชให้คำแนะนำ สำหรับนักเรียนนิสิตนักศึกษา ผู้เขียนมีคำแนะนำให้สมัครเข้าชมรมต่างๆ ของสถานศึกษา เช่น ชมรมฝึกการพูด ชมรมโต้วาที และชมรมอื่นๆ ที่ทำให้ต้องฝึกการสื่อสารและทำงานกับผู้อื่น ตัวผู้เขียนเองชอบทำงานในชมรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ทำให้มีโอกาสฝึกเขียนจดหมายขอทุนสนับสนุนการทำกิจกรรมจากองค์กรต่างๆ มีโอกาสพูดต่อหน้าที่ประชุมต่างๆ ได้ฝึกเขียนโปสเตอร์ ได้ทำงานกับเพื่อนต่างคณะ ทำให้ได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตการทำงานในองค์กรได้จริง

    ถ้าคนเรามีความตั้งใจใฝ่รู้ หัดสังเกตคนเก่งๆ ทำงาน ขยันซักถามขอคำแนะนำจากหัวหน้างานและคนเก่งๆ ไม่นานก็จะเก่งขึ้นมาได้ค่ะ จะมารอให้นายจ้างจัดฝึกอบรมให้อย่างเดียวมันไม่พอและก็ไม่ทันการด้วยค่ะ รีบเก่งไวๆ จะได้หางานที่ชอบได้เร็วๆ ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเงินเดือนเร็วๆ กันนะคะ และในส่วนของนายจ้างก็ควรจัดโปรแกรมฝึกพนักงานอยู่เป็นระยะๆ ลูกน้องจะได้เก่งทันใจ ช่วยกันคนละไม้ละมือ คนไทยจะได้เป็นคนมีคุณภาพกันมากๆ