Bangkok post> Jobs > Career guide

บริหารหัวหน้า ต่างวัฒนธรรม

  • Published: Oct 11, 2017 15:43
  • Writer: Post Today | 1 viewed

 

ในอดีตเมื่อครั้งที่ดิฉันทำงานกับสายการบินต่างชาติแห่งหนึ่ง ได้มีโอกาสร่วมงานกับผู้จัดการที่เป็นชาวต่างชาติจากหลากหลายวัฒนธรรม เช่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี และสังเกตได้ถึงระยะห่างของหัวหน้ากับลูกน้อง ทั้งระหว่างการทำงานและนอกงาน เช่นไม่ค่อยเห็นผู้จัดการทานข้าวร่วมกับลูกน้อง ตรงไหนในร้านอาหารที่ผู้จัดการหรือหัวหน้างานนั่งอยู่ ลูกน้องก็จะหลบๆ ไปนั่งอีกด้านหนึ่ง ดูแบ่งแยกกันชัดเจน ทั้งๆ ที่ผู้จัดการมีเจตนาดีกับลูกน้องเสมอ 

หลังจากนั้นอีกหลายปี ก็มีโอกาสได้ทำงานกับหัวหน้าชาวอเมริกันที่วางตัวต่างไปอีกแบบ เน้นความเท่าเทียมกันให้ลูกน้องสื่อสารตรงไปตรงมา ให้ร่วมตัดสินใจ ให้ความใกล้ชิดฉันมิตร ไม่ว่าในงานหรือนอกงาน การวางตัวของหัวหน้าที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าหัวหน้าได้รับการปลูกฝังวัฒนธรรมในรูปแบบใดมา

เรื่องหนึ่งที่ทำให้ลูกน้องเครียดในการทำงาน คือการรับมือกับหัวหน้าของตนเอง ในขณะที่หัวหน้าเองก็ควรปรับตัว ลูกน้องก็สามารถปรับตัวด้วยเช่นกัน เพื่อร่วมงานกับหัวหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุขไม่ว่าจะมาจากวัฒนธรรมใด

     ➤ ประการแรกในการทำงานกับหัวหน้า สร้างความเข้าใจในเป้าหมายและลำดับความสำคัญของงานให้ตรงกัน หากหัวหน้าไม่ได้สื่อสารให้คุณทราบชัดเจน คุณสามารถที่จะสอบถามหัวหน้าได้เมื่อมีการประชุม ขอพบปะกัน ถ้าหัวหน้าเป็นคนสื่อสารน้อยจริงๆ คุณอาจจะเขียนเป้าหมายหลักๆ สักห้าหกข้อตามความเข้าใจของคุณ และขอให้หัวหน้าช่วยดูให้ว่าคุณมาถูกทางแล้วหรือไม่ หรือคุณกำลังเข้าใจผิด 

     ➤ สอง สื่อสารกับหัวหน้าของคุณสม่ำเสมอ โดยเฉพาะความคืบหน้าของโครงการที่คุณได้รับมอบหมาย งานใดที่ลุล่วงแล้ว และงานที่คุณคาดการณ์ถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น โดยมีทางออกที่คุณนำเสนอด้วย หากคุณวางแผนงานและสื่อสารได้ดี และทำงานลุล่วงอย่างมีคุณภาพจะเป็นผลดีต่อความน่าเชื่อถือในตัวคุณ และทำให้คุณได้รับการรับฟังเมื่อเสนอความคิดเห็นต่างๆ

     ➤ สาม ในการประชุม เตรียมตัวและข้อมูลตามกำหนดการที่ได้รับเมื่อผู้อื่นพูด การให้เกียรติรับฟังผู้อื่นอย่างจริงใจโดยไม่ตั้งกำแพงรอค้าน จะทำให้ผู้อื่นฟังความเห็นของคุณเช่นกัน พฤติกรรมของลูกน้องที่มักทำให้หัวหน้าลำบากใจ เช่น พูดบางเรื่องขึ้นมาโดยหัวหน้าไม่ทราบความเป็นมา (Surprise) ใช้อารมณ์ในการพูดคุย นินทาลับหลัง กระจายข่าวลือที่ไม่สร้างสรรค์  ด่วนปฏิเสธในเชิงลบก่อนที่จะลองทำหรือหาข้อมูลก่อน  

     ➤ สี่ ปรับสไตล์เข้าหาหัวหน้า โดยธรรมชาติคนเรามักชอบพูดคุยกับคนที่มีนิสัยใกล้เคียงกัน เช่น ถ้าหัวหน้าเป็นคนต้องการข้อมูลละเอียด หรือทำงานเป็นขั้นตอน คุณอาจถามล่วงหน้าถึงขอบเขตข้อมูลที่หัวหน้าต้องการ และสื่อสารความคืบหน้าบ่อยๆ ถ้าหัวหน้าเป็นคนรวดเร็ว มีโครงการมากมาย ชอบเปลี่ยนแปลง คุณควรสอบถามลำดับความสำคัญของโครงการ และโฟกัสการสื่อสารของคุณไปที่ผลลัพธ์

     ➤ ห้า หากต้องการปฏิเสธหัวหน้าในบางเรื่องพยายามเสนอทางเลือกต่างๆ ด้วย เป็นการแสดงถึงการทำงานเป็นทีมและห่วงใยกัน ทีมที่มีความสำเร็จจำเป็นต้องมีทั้งหัวหน้าและลูกน้องที่ดี หัวหน้าและลูกน้องที่มีความสุขก็จะนำไปสู่ทีมที่มีความสำเร็จด้วย