คุณภาพชีวิตการทำงาน
- Published: Oct 6, 2017 15:10
- Writer: Post Today | 3,488 viewed
ความสุขในการทำงานคืออะไร มีนักวิชาการหลายคนที่พยายามหาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสุขในการทำงาน เริ่มจากแนวคิดเริ่มต้นจากแนวคิดเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตในการทำงาน ในปี 1970s ให้มีอิสระการทำงาน การพึ่งพาซึ่งกันและกัน การมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิด “Best fit” ระหว่างเทคโนโลยี และสังคมในองค์กร
แนวคิดดังกล่าวเป็นของ Bolweg โดย Nazir ที่มองว่าคุณภาพชีวิตในการทำงานเป็นส่วนผสมของกลยุทธ์ ขั้นตอน และบรรยากาศในการทำงานซึ่งทำให้เพิ่ม หรือรักษาความพึงพอใจของพนักงานโดยการมุ่งพัฒนาเงื่อนไขในการทำงานสำหรับพนักงานในองค์กร
กรอบแนวคิดด้านคุณภาพชีวิตในการทำงานที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากที่สุดนั่นก็คือ ปัจจัยแปดด้านของ Walton ซึ่งได้แก่ ค่าตอบแทนที่เพียงพอและยุติธรรม สภาพการทำงานที่มีความปลอดภัยและถูกลักษณะ การเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานได้พัฒนาความรู้ความสามารถในการทำงาน โอกาสในการเจริญเติบโตสร้างความมั่นคงในอาชีพการงาน การบูรณาการทางสังคมของผู้ปฏิบัติงาน ลักษณะงานที่ตั้งอยู่บนฐานของกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรม ความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานโดยส่วนรวม ลักษณะงานมีส่วนเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับสังคมโดยตรง
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยหลายงานที่สนับสนุนให้เห็นว่า คุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดีส่งผลต่อผลิตภาพในการทำงานของคนในองค์กร นั่นคือ ความสำเร็จของระบบในการใช้ทรัพยากรในการบรรลุเป้าหมาย โดยมีการศึกษาสถานการณ์จริงของการทำงานในองค์การ เช่น เงินเดือน และผลประโยชน์ สวัสดิการสิ่งอำนวยความสะดวก สุขภาพและความปลอดภัย การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การบริหารงานแบบประชาธิปไตย ความหลากหลายและความสมบูรณ์ของงาน
ทั้งนี้ คุณภาพชีวิตเกี่ยวข้องกับการปรับตัวในกระบวนการผลิตได้ดีที่สุด โดยการเพิ่มความสามารถในการปรับตัวคือการให้ความสำคัญกับมนุษย์ซึ่งเป็นศูนย์กลางของกระบวนการผลิตซึ่งส่งผลต่อการรักษาผลกำไร โดยเฉพาะในธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งการสร้างคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีให้กับพนักงานนั้น ไม่เพียงแต่ความสามารถในการตอบสนองความต้องการของตลาดหรือลูกค้า แต่องค์กรยังสามารถดึงดูด และรักษาพนักงานที่มีความชำนาญให้อยู่กับองค์กรเพื่อสามารถดึงดูดลูกค้า และรักษาลูกค้าไว้ได้อีกด้วย
คุณภาพชีวิตในการทำงานยังมีความสัมพันธ์กับภาวะความกังวัล ภาวะซึมเศร้า และภาวะเครียด เช่นเดียวกับการไร้ความสามารถ และการปรับตัว และแสดงให้เห็นว่าภาวะซึมเศร้าไม่ได้มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างการทำงาน และการปรับตัวเข้ากับสังคม
สำหรับโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานไม่ว่าจะเป็น Techno stress ซึ่งเป็นภาวะจิตที่เกี่ยวข้องกับคนและการใช้เทคโนโลยีใหม่ ผลลัพธ์ของความเครียดส่งผลให้ความพึงพอใจในงาน ความมุ่งมั่นในการทำงาน และผลิตภาพในการทำงานลดลง โรคกรดไหลย้อน โรคเรื้อรัง เช่น ปวดหลัง ปวดหัว ต่างส่งผลต่อผลิตภาพการทำงานทั้งสิ้น
จะเห็นได้ว่าการบริหารคุณภาพชีวิตในการทำงานของพนักงานที่ดีจะส่งผลให้พนักงานมีสุขภาพที่ดีขึ้น มีความมุ่งมั่นในการทำงาน มีชีวิตชีวา ทำงานและผลิตได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ลดค่าใช้จ่ายขององค์การ
ในปัจจุบันหนึ่งในตัวชี้วัดว่าบริษัทใดเป็น “บริษัทที่ดี” ในปัจจุบัน ก็คือ คุณภาพชีวิตในการทำงาน และยังมีตัวบ่งชี้อื่นๆ เช่น จริยธรรม และความพึงพอใจในงาน ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานและความยั่งยืนขององค์การ