๙ คำพ่อ พระบรมราโชวาทเพื่อยึดเป็นหลักในการทำงาน
- Published: Oct 5, 2017 10:58
- Writer: นสพ. M2F ฉบับวันที่ 2 ตุลาคม 2560 | 2,370 viewed
ในชีวิตการทำงาน อุปสรรคนับเป็นสิ่งที่ต้องเจอ งานหนักก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ในบางครั้ง แต่การจะทำงานให้ประสบความสำเร็จผ่านพ้นทุกอุปสรรคไปได้ จำเป็นต้องมีหลักในการทำงานที่แน่วแน่ จึงขอน้อมนำพระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในบางส่วนจากหนังสือ “๑๐๘ มงคล พระบรมราโชวาท” เพื่อความสุขความสำเร็จของชีวิตแบบยั่งยืน ซึ่งเป็นเครื่องชี้แนะอันมีค่าที่ทุกคนสามารถน้อมนำมาปรับใช้กับชีวิตและการทำงาน เพื่อความสุขและความมั่นคงในชีวิตอย่างยั่งยืน
๑. การงานและอาชีพทุกอย่างย่อมมีจรรยาบรรณเป็นของตนเอง
“จรรยาบรรณนั้นจะบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตาม แต่เป็นสิ่งที่ยึดถือกันว่าเป็นความดีงามที่คนอาชีพนั้นพึงประพฤติปฏิบัติ หากผู้ใดล่วงละเมิดก็อาจก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งบุคคลและส่วนรวมได้”
๒. มีโอกาสทำงาน ควรเต็มใจทำโดยไม่มีข้อแม้
“คนที่ทำงานได้จริงนั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใดย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยันซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบความสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น”
๓. รู้จักประมาณตนและขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม
“การรู้จักประมาณตน ได้แก่ การรู้จักและยอมรับว่าตนเองมีภูมิปัญญาและความสามารถด้านไหนเพียงใด อย่างไร และการรู้จักประมาณตนนี้จะทำให้คนเรารู้จักใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ได้อย่างถูกต้อง”
๔. วินัยทำให้เป็นคนคิดและทำอย่างเป็นระเบียบ
“วินัยเมื่อนำมาฝึกหัดปฏิบัติจะเป็นดังข้อบังคับที่ควบคุมบุคคลให้ประพฤติปฏิบัติเป็นระเบียบ จึงอาจทำให้เกิดความอึดอัดลำบากใจ แต่เมื่อปฏิบัติไปให้ชินจนรู้สึกว่าเป็นไปโดยอัตโนมัติแล้วก็จะสำเร็จผล ทำให้เป็นคนมีระเบียบ คือคิดก็เป็นระเบียบ ทำก็เป็นระเบียบ ตามลำดับขั้นตอน”
๕. มัวแต่คิด ไม่กล้าลงมือทำจะไม่มีอะไรสำเร็จ
“ถ้ามัวแต่ไปคิดอย่างนักวิทยาศาสตร์ ทำอะไรก็ไม่สำเร็จหรอก คิดอะไรก็ทำไปเลย ผิดถูกค่อยแก้ไป ถ้ามัวแต่คิด แต่ไม่กล้าลงมือทำ มันก็จะไม่มีอะไรสำเร็จสักอย่างเดียว”
๖. มีความตั้งใจในการตั้งต้นงาน
“ตั้งใจนั้นก็คือ เอาใจตั้งในงาน หรืออีกอย่างเอางานเข้ามาตั้งไว้หน้าใจ เมื่อเอางานมาตั้งไว้หน้าใจ หรือเอาใจตั้งไว้ในงานนั้น เชื่อว่าก็คงสำเร็จลุล่วงไปได้โดยดี”
๗. ใช้ความสามารถและความรอบคอบในการไปให้ถึงจุดหมาย
“การจะไปให้ถึงจุดหมายต้องใช้ความสามารถและความรอบคอบระมัดระวังมาก แรกเริ่มก็ต้องพิจารณาหาทางที่ถูกและที่เหมาะที่สุดเป็นทางเดิน เมื่อไปถึงทางแยกทางร่วม จะเดินไปได้เป็นสองทาง สามทาง ก็ต้องใช้ความรู้ความฉลาดตัดสินว่าควรจะเลือกไปทางไหนจึงจะสะดวก ปลอดภัย และไปถึงที่หมาย”
๘. เตรียมกายใจให้พร้อม ที่จะเผชิญและแก้ไขอุปสรรค
“ในการดำเนินวิถีชีวิตมนุษย์นั้น จะให้มีแต่ความปกติสุขอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีทุกข์ มีภัย มีอุปสรรคผ่านเข้ามาด้วยเสมอ ข้อสำคัญอยู่ที่ทุกๆ คนจะต้องเตรียมกาย เตรียมใจไว้ให้พร้อมทุกเวลา เพื่อเผชิญและแก้ไขความไม่ปกติเดือดร้อนนั้นด้วยความไม่ประมาท”
๙. แม้ความดีทำยากและเห็นผลช้า ก็จำเป็นต้องทำ
“เพราะการทำความดีนั้น โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจ และความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่วซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างเร็วโดยไม่รู้สึกตัว”