IQ และ EQ ในการทำงาน
- Published: Sep 21, 2017 16:13
- Writer: Post Today | 1 viewed
ไม่นานมานี้ได้ยินคำพูดหนึ่งของ แจ็ค หม่า มหาเศรษฐีชาวจีนผู้ก่อตั้งอาลีบาบาเกี่ยวกับเรื่องการทำงาน เขากล่าวว่าถ้าให้เขาเลือกระหว่างคนที่มี IQ สูงกับ EQ สูง เขาจะเลือกคนที่มี EQ สูงมาทำงาน เรื่องนี้เป็นสิ่งที่พูดกันมากในวงการธุรกิจและการบริหาร ดิฉันในฐานะที่ทำงานทั้งในภาคเอกชนและเป็นอาจารย์สอนหนังสือก็อยากร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้อ่านในบทความตอนนี้
IQ นั้นเป็นสิ่งที่วัดความฉลาดในเชิงตรรกะ การคิดเป็นเหตุผล ความรู้ทางวิชาการเฉพาะทาง ขณะที่ EQ นั้นจะวัดความฉลาดทางด้านอารมณ์ หากให้มองในฐานะของนักวิชาการแล้วดิฉันเห็นว่า การมี IQ สูงๆ นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นมากหากเราต้องทำงานในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับความรู้ ไม่ว่าจะเป็นในฐานะของอาจารย์ นักวิชาการ หรือนักวิจัย
ทั้งนี้เนื่องจากธรรมชาติของงานด้านอาจารย์ หรือการวิจัยนั้นมีความจำเป็นต้องพึ่งความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการทำงานมากๆ อีกทั้งการที่เรารู้จักคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล จะช่วยให้เราสามารถตอบปัญหาทางวิชาการจากนิสิตนักศึกษาได้ดี และช่วยให้เราสามารถตั้งโจทย์การวิจัยใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ทางวิชาการได้ อีกทั้งโดยธรรมชาติของงานอาจารย์ หรือนักวิจัยก็เป็นงานที่ทำคนเดียวหรือเกี่ยวข้องกับคนไม่มากนัก ทำให้ทักษะด้าน IQ เป็นด้านหลักที่จำเป็นอย่างมากในสายอาชีพนี้
ทีนี้หากเรามองในโลกของการทำงานในองค์กรธุรกิจจะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนกับงานวิชาการ การทำงานในองค์กรธุรกิจนั้นมีลักษณะของการทำงานที่ต้องทำงานร่วมกับผู้คนมากมาย ทั้งภายในและภายนอกองค์กรเพื่อบรรลุเป้าหมายตามพันธกิจที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งแต่ละส่วนงานก็จะมีกลยุทธ์การทำงานเพื่อให้ส่งต่องานของตนจนประกอบเป็นความสำเร็จในภาพรวมตามที่องค์กรตั้งเป้าไว้ ณ จุดนี้การทำงานในองค์กรจึงมีธรรมชาติไม่ต่างจากโรงงานที่มีงานย่อยๆ ที่ทุกคนต้องทำตามสายการผลิตเพื่อให้ผลลัพธ์ที่ออกมาคือสินค้าที่เราจะนำไปจำหน่ายให้ลูกค้าต่อไป
IQ ก็เป็นสิ่งจำเป็นในการทำงาน การที่เราจะทำงานส่วนของเราให้ดีและถูกต้องได้นั้น จำเป็นที่จะต้องใช้ความรู้เฉพาะทาง เช่น บัญชี การเงิน การตลาด การออกแบบ วิศวกรรม คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่ายังมีคนอื่นๆ ในองค์กรที่ต้องทำงานร่วมกับเรา และต่างก็ต้องนำงานของตัวเองมาประสานกันเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายหลักขององค์กรตามพันธกิจที่ตั้งไว้
การทำงานในองค์กรเปรียบเสมือนว่าตัวเรามีหน้าที่ตัดกระดาษให้ได้ตามขนาดที่ได้รับมอบหมายเพื่อส่งต่อไปประกอบเป็นกล่องเพื่อบรรจุสินค้าก่อนนำไปวางขายนอกโรงงาน หากเรามุ่งแต่นั่งตัดกระดาษให้ถูกต้องตามขนาดแล้ววางกองๆ เอาไว้โดยไม่แยกแยะว่ากระดาษที่ตัดมามีขนาดใดบ้าง ไม่มีสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานว่ากระดาษเสร็จเท่าไรแล้ว วางอยู่ตรงไหน แม้ว่าเราจะทำงานเสร็จตามหน้าที่และออกมาตรงตามกำหนด แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับไม่เกื้อหนุนให้ส่วนอื่นในสายพานทำงานต่อไปได้ อีกทั้งอาจจะทำให้งานส่วนอื่นในสายพานล่าช้าและมีปัญหาตามไปด้วย
ตรงนี้คือตัวอย่างของการทำงานของคนที่มีแต่ IQ แต่ขาด EQ ตรงกันข้ามหากเราทำงานโดยที่มี IQ และ EQ ประกอบกัน นอกจากงานที่เราทำจะออกมาสำเร็จตามที่กำหนดแล้ว ก็จะสามารถประสานผลงานของเราเข้ากับของคนอื่นและทำออกมาให้เกิดความสำเร็จในภาพใหญ่ได้ เพราะคนที่มี EQ จะใส่ใจในความรู้สึกของเพื่อนร่วมงานและเข้าใจในความต้องการของเขา แม้เราจะเป็นคนที่ไม่ได้มี IQ สูงมาก แต่หากเราเป็นคนที่มี EQ ดีจะช่วยให้เราพูดคุยขอคำแนะนำเพื่อพัฒนาตัวเองจากเพื่อนร่วมงานได้ง่าย