Bangkok post> Jobs > Career guide

มองโลกแง่ดี จุดเริ่มต้นความสุขในการทำงาน

  • Published: Aug 29, 2017 11:53
  • Writer: Post Today | 3,235 viewed



     การมองโลกแง่ดีนั้น เป็นการส่งเสริมประสิทธิภาพของการทำงานได้ งานวิจัยหลายชิ้นรับรองตรงกันถึงการคิดบวกมองบวกว่า ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการทำงาน กลไกการมองให้เห็นแง่ดีที่มีอยู่ ก็คือการสร้างพลังให้แก่ตัวเอง คุณแน่ใจขนาดไหนว่าคุณเป็นคนมองโลกแง่ดี ไปดูกันเลยดีกว่า

     การมองโลกในแง่ดี ก็คือ การมองว่าชีวิตนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวที่งดงาม มีความสุขสนุกสนาน มีความปลอดภัย คนที่มองโลกในแง่ดี จึงเป็นผู้ที่มีความสุข ปราศจากความเครียด (หรือมีความเครียดน้อย) มีกำลังกาย มีกำลังใจ มีกำลังในการคิดสร้างสรรค์ สร้างผลงาน

     ยิ่งไปกว่านั้นคือแหล่งพลังเบื้องลึก จากความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนมีคุณค่า มีความสำคัญ รวมไปถึงการเห็นคุณค่าและความสำคัญของสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ด้วย คุณค่าและความสำคัญของเพื่อนร่วมงาน ทีมของคนมีพลัง จะยิ่งปล่อยพลังให้กัน หมายถึงพลังที่ส่งต่ออย่างไม่มีวันจบสิ้น

     ขณะที่คนมองโลกแง่ร้าย ก็มักจะเห็นว่า ชีวิตนี้มีแต่ความน่าเกลียด ความเศร้า ความหดหู่ ความเป็นอันตราย ความไม่ปลอดภัย ปิดกั้น ไม่เปิดกว้าง รอบตัวเต็มไปด้วยผู้คนที่จิตใจไม่ดีรอบด้าน ความคิดเหล่านี้จะวิ่งวนอยู่ในหัวของคนผู้นั้นอย่างยากที่จะลบออก

     ความคิดแง่ลบ สะท้อนถึงการงานและประสิทธิภาพการทำงานของคนที่มองโลกในแง่ไม่ดี ทำให้วันทั้งวันเขากลุ่มนี้ไม่สามารถทำอะไรได้มาก เพราะอุปสรรคในหัวที่มากมายเต็มไปหมด เริ่มต้นยากแถมไม่คิดแก้ปัญหาด้วย

     ลองสำรวจดูตัวเองว่า คุณเป็นคนกลุ่มไหน หรือแม้แต่บางทีที่แม้จะบอกตัวเองว่ามองโลกแง่ดี แต่มีบ้างหรือไม่ที่เราแอบจะมองโลกแง่ร้ายอยู่บ้าง ลองตอบคำถามดังต่อไปนี้ เพื่อไขความกระจ่างว่า เรามองโลกแง่ดีแน่หรือไม่

     1. คิดยอมจำนนต่อทุกสิ่ง เพราะคิดว่าทุกสิ่งได้ถูกกำหนดไว้แล้ว

     2. คิดว่าตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำ โดยมองในแง่ของผู้ถูกกระทำบ่อยๆ

     3. ไม่ต่อสู้หรือดิ้นรนให้สถานการณ์ดีขึ้น ชอบปลอบใจตัวเองว่า เดี๋ยวก็มีคนมาแก้ปัญหาให้ เดี๋ยวศัตรูก็ตายไปเอง เดี๋ยวก็ดีไปเอง เดี๋ยวก็ชินไปเอง

     4. ชอบคิดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของเรา แต่คิดว่าเป็นความผิดของผู้อื่น หรือฝ่ายอื่นๆ แผนกอื่นเสมอ

     5. ไม่ชอบมองหาหนทางการทำงานใหม่ๆ ติดยึดกับการทำงานรูปแบบเดิมๆ เพราะกลัวผิด กลัวความผิดพลาด กลัวถูกตำหนิ

     6. ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าควบคุมสถานการณ์แม้ว่าบางครั้งจะเป็นขอบข่ายงานในหน้าที่ก็ตาม โยนให้ลูกน้อง หรือยกภาระการตัดสินใจให้ผู้บังคับบัญชาเสมอ

     7. ไม่มีความรู้สึกดีๆ ให้ตัวเอง ลองสอบทานดูซิว่า คุณชื่นชมตัวเอง (อย่างจริงใจนะ) ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่

     8. มีระยะห่างกับเพื่อนร่วมงาน อึดอัดขัดเขิน และไม่กล้ามอบความสัมพันธ์อย่างจริงใจให้แก่ใคร

     9. มองไม่เห็นคุณค่าของงานที่ทำอยู่ รู้สึกหรือแอบรู้สึกว่า งานที่ตัวเองทำเป็นงานที่ไม่มีประโยชน์ ไร้ประโยชน์ ไร้คุณค่า รู้สึกแย่ตลอดเวลา ดูถูกสิ่งที่ตัวเองทำ

     10. ไม่ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่มานานมากแล้ว รู้สึกปลอดภัยกับการทำงานที่เหมือนๆ เดิม ไม่กล้าออกนอกกรอบ ไม่กล้าคิดออกจากแบบแผน

     11. ทักษะทางสังคมคับแคบ ไม่สามารถจดจำชื่อเพื่อนร่วมงานได้มากนัก ไม่สามารถขอความช่วยเหลือหรือขอความร่วมมือจากเพื่อนร่วมงานได้ มีอคติ มีโลกส่วนตัว

     12. ไม่มีความหวังในหน้าที่การงาน

     ไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติมองโลกแบบนี้ทุกข้อ แต่หากมีเพียง 3 ข้อเป็นอย่างต่ำ ก็ต้องเริ่มทบทวนตัวเองและบทบาทการทำงานในที่ทำงานได้แล้ว ขอให้คิดใหม่ทำใหม่และเริ่มต้นใหม่ โดยย้อนกลับไปอ่านหัวข้อเรื่องนี้อีกครั้ง “มองโลกแง่ดี”...คุณเริ่มต้นใหม่จากตรงนั้นได้

     อย่างน้อยที่สุด คือการกู้วิธีมองในมุมด้านบวกให้กลับมา มองทุกอย่างด้วยหัวใจที่เป็นกลาง สรรพสิ่งในโลกไม่มีด้านเดียว เมื่อคุณมองเห็นด้านหนึ่งแล้ว ก็จะมีอีกด้านที่ตรงกันข้ามเสมอ

     คิดเสียว่าสิ่งนี้จำเป็นต่อการงาน เพราะทัศนคติไม่ดี ฉุดรั้งประสิทธิภาพความก้าวหน้า คุณยอมรับได้หรือว่าคุณจะยอมเสียเวลาทั้งชีวิตนี้เพื่อความไม่ก้าวหน้าในการงาน ยอมรับเถอะว่า คุณเองก็อยากจะประสบความสำเร็จ
เหมือนๆ คนอื่นเขา

     เริ่มจากมุมมองใหม่ มองให้เห็นด้านดี มองให้เห็นคุณค่าความหมายของงานที่ทำ แล้วคุณจะรักงานของคุณมากขึ้น มองเห็นด้านบวกและมุมดีๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เยอะๆ