Bangkok post> Jobs > Career guide

8 คุณสมบัติ เพื่อเป็นลูกน้องที่หัวหน้าเอ็นดูและไว้ใจ

  • Published: Aug 9, 2017 15:15
  • Writer: Post Today | 1 viewed

 

หัวหน้าแต่ละงานและแต่ละคนก็มีรูปแบบการบริหารจัดการที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งหัวหน้างานของคุณอาจตั้งความหวังในตัวพนักงานบางคนสูงกว่าคนอื่นๆ โดยมักจะเปลี่ยนไปตามงานที่ได้รับมอบหมาย แต่ถ้าคุณพยายามทำทุกสิ่งให้ดีที่สุด ย่อมจะได้รับสิ่งดีๆ ตอบคืนมาจากหัวหน้างานด้วย

สิ่งสำคัญที่จะทำให้พนักงานประสบความสำเร็จและเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานก็คือ การได้รับการไว้วางใจจากคนในระดับหัวหน้าหรือระดับบอร์ดที่สูงกว่านั้น เพราะพวกเขาจะเป็นผู้คอยประเมินผลงานต่าง ๆ ร่วมทั้งพิจารณาขยับตำแหน่งที่สูงขึ้นในอนาคต ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำที่จะช่วยคุณทำงานเป็นมืออาชีพมากขึ้น ที่พอจะมีคุณสมบัติพอที่จะได้รับความไว้วางใจและความเอื้อเอ็นดูจากระดับหัวหน้าให้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นได้

     1. ก่อนส่งงานต้องทวนคำผิดคำถูกให้ถูกต้องเสียก่อน หากได้รับมอบหมายงานมา เช่น การทำรายงานหรือเอกสารเกี่ยวกับงานต่างๆ ก่อนส่ง ควรพิมพ์คำให้ถูกต้อง เพราะนั่นหมายถึงคุณใส่ใจกับงานอย่างละเอียด และใส่ใจทุกรายละเอียดของงาน เรียกว่าไม่มีหลุดเลย

     2. เช็กอีเมลของคุณให้ละเอียด การกระทำของคุณจะส่งผลโดยตรงต่อหัวหน้างาน หากคุณไม่เช็กอีเมล มันสามารถสะท้อนถึงความรับผิดชอบของหัวหน้าและทีมของคุณ ดังนั้นใช้เวลาอ่านข้อความที่ได้รับ และตอบกลับในส่วนที่คุณเกี่ยวข้องหรือรับผิดชอบ พร้อมทั้งอ่านทวนซ้ำอีกครั้งก่อนกดส่งเพื่อตรวจทาน รวมถึงอ่านเพื่อตรวจทานว่าเราเขียนข้อความที่ไม่ชัดเจน หรือใช้คำไม่เหมาะสมใดๆ ในเนื้ออีเมลไปด้วยหรือไม่

     3. ทำงานตรงตามกำหนดเวลา และแจ้งหัวหน้าให้เร็วที่สุดหากทำไม่ทัน การตรงต่อเวลาเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงาน ดังนั้นคุณต้องบริหารจัดการภาระงานให้ดีตามแผนที่ได้ตกลงกับหัวหน้าของคุณ แต่หากมีปัญหาเกิดขึ้นจนไม่อาจทำงานได้ทันกำหนด ไม่ว่าจะโดนต่อว่าอย่างไร คุณต้องรีบแจ้งหัวหน้าให้รับทราบ เพื่อจะได้คิดแก้ปัญหา หรืออาจมีการปรับเปลี่ยนแผนการทำงานให้สอดคล้องต่อไป

     4. พยายามแก้ปัญหาก่อนขอความช่วยเหลือ และถามเมื่อมีข้อสงสัย ทักษะการแก้ปัญหาเป็นสิ่งที่หัวหน้าทุกคนต้องการ คุณจึงควรพยายามแก้ปัญหาด้วยตนเองเสียก่อน แต่ไม่ใช่ใช้เวลาไปทั้งวันสำหรับมัน เมื่อคุณคิดว่าไม่สามารถทำได้ก็ควรขอความช่วยเหลือ นอกจากนี้หากไม่แน่ใจในเนื้อหาของงาน คุณต้องถามหัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงาน ดีกว่าทำผิดพลาดจนเป็นปัญหาภายหลัง

     5. แก้ปัญหาไม่ใช่สร้างปัญหา การมีความเห็นไม่ตรงกับเจ้านายของคุณบ้างเป็นเรื่องปกติ แต่มีปัญหาที่ไม่เข้าใจ หรือมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันมากๆ แทนที่จะถามหรือแสดงความไม่เห็นด้วยออกไปต่อหน้าเพื่อนร่วมงาน คุณอาจขอคำชี้แจงอย่างสุภาพเป็นการส่วนตัวเพื่อพูดคุยปรับความเข้าใจ และเมื่อได้รับโอกาสต้องแน่ใจว่าตัวเองมีเหตุผลที่สมเหตุสมผลพอ หรือถ้าหากมันเป็นปัญหาเวลาที่เข้าพบกับหัวหน้าก็พยายามหาทางแก้ไขปัญหานั้นๆ เอาไปเสนอให้กับหัวหน้าด้วย ก็จะแสดงออกให้เห็นว่าคุยมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา ไม่ได้ผลักภาระไปให้หัวหน้าอย่างเดียว

     6. ยอมรับในขีดความสามารถของตัวเอง แต่พยายามเรียนรู้เพิ่มเติม หากคุณพูดคำว่า “ได้” ในทุกเรื่อง เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าคุณทำงานหนักโดยไม่นึกถึงขีดจำกัดของตัวเอง แน่นอนว่าคุณภาพงานของคุณจะเริ่มลดน้อยลง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทำหากทำไม่ได้ คุณต้องมีความพยายามที่จะพัฒนา หาความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอ รวมถึงแบ่งปันความรู้นั้นๆ ไปสู่เพื่อนร่วมงานของคุณ

     7. เป็นผู้ร่วมทีมที่ดี และวางตัวอย่างรู้สถานการณ์ คุณต้องให้ความร่วมมือกับทีมในการสร้างผลงานที่มีคุณภาพ ยอมรับในข้อตกลงของคนส่วนใหญ่ รวมถึงการวางตัวเหมาะสมตามสถานการณ์ รู้ว่าช่วงเวลาหนที่ควรออกความคิดเห็น คุณต้องเป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟังที่ดี ระลึกไว้เสมอว่าการคิดก่อนพูดเป็นเรื่องสำคัญ

     8. ช่วยงานหัวหน้าตามความเหมาะสม การเป็นผู้นำย่อมทำให้หัวหน้าของคุณมีหน้าที่รับผิดชอบมากกว่าผู้อื่น รวมไปถึงการดูแลคุณ ดังนั้นหากภาระงานที่มีไม่หนักมากนัก คุณอาจเสนอตัวช่วยงานบ้างตามความเหมาะสม อาทิ เป็นพี่เลี้ยงสอนงานเพื่อนร่วมทีมคนใหม่เพื่อช่วยแบ่งเบาหัวหน้าของคุณ