Bangkok post> Jobs > Career guide

5 ปัจจัยกระทบผลงาน

  • Published: Jul 19, 2017 17:43
  • Writer: Post Today | 1 viewed


     ความคาดหวังของหัวหน้าในการบริหารงานและคนก็คือ อยากให้ลูกน้องมีผลงาน หรือมีผลการปฏิบัติงานที่ดี (Performance)  วันนี้ขอกล่าวถึงปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถนำมาพิจารณาว่าส่งผลกระทบต่อผลการปฏิบัติงานอยู่หรือไม่

ปัจจัยแรก คือ ปัจจัยด้านกายภาพ เช่น สถานที่ทำงานและสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติงาน เช่น เสียงดัง แสงไม่พอ การเข้าถึงเอกสารและเครื่องมือในการทำงานที่จำเป็นต่างๆ ไม่เป็นระบบระเบียบ ปัจจัยนี้รวมถึงสถานที่ทำงานที่สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัย และสวัสดิภาพของบุคลากร

ปัจจัยที่สอง คือ ด้านกระบวนการทำงาน เช่น กระบวนการทำงานไม่มีระบบมาตรฐาน ทำให้ขาดความต่อเนื่อง เครื่องมือในการทำงานล้าสมัย ทำให้เกิดความล่าช้า หากเกิดปัญหานี้ขึ้น สามารถเริ่มมองหาจุดที่เป็นคอขวด และสิ่งที่เชื่อมโยงมาสู่จุดนี้ ถ้ามีเวลาก็สร้างการมีส่วนร่วมในการร่วมกันออกแบบกระบวนการทำงานใหม่ แต่ถ้าเข้าภาวะคับขันแล้ว คงต้องกำหนดให้เปลี่ยนแปลงโดยผู้มีอำนาจอนุมัติ

ปัจจัยที่สาม คือ ด้านสังคม เช่น เพื่อนร่วมงานมีความแตกต่างหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง หรือสาเหตุอาจมาจากวัฒนธรรมท้องถิ่นขัดกับวัฒนธรรมองค์กรซึ่งมักถูกกำหนดโดยสำนักงานใหญ่ หากไม่มีการเข้ามาบริหารจัดการให้คลี่คลายไป อาจทำให้เกิดการแบ่งพรรคพวก มีกลุ่มเล็ก กลุ่มน้อย แข่งขันกันไปมาจนเคยชินกับความคิดจะเอาชนะและทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง มากกว่าการทำเพื่อประโยชน์โดยรวมขององค์กร  องค์กรส่วนใหญ่ใช้การจัดกิจกรรมพบปะนอกงาน หรือจัดกิจกรรมทีมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสายใยของความเป็นหนึ่งเดียวกัน

ปัจจัยที่สี่ คือ ด้านการสนับสนุนจากผู้บริหารของพวกเขา เช่น สไตล์การสื่อสารของผู้บริหารที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด หรือความเข้าใจที่ไม่สอดคล้องกับทิศทางขององค์กร ผู้บริหารใช้การสื่อสารแบบทางเดียวจากบนมาล่าง และไม่รับฟังบุคลากรมากนัก รวมถึงสถานการณ์ที่เห็นอยู่ ทำให้บุคลากรมีความเข้าใจว่าตนเองได้รับการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรม การพัฒนาภาวะผู้นำให้ผู้บริหารเป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาในข้อนี้ได้

ปัจจัยที่ห้า คือ ด้านจิตวิทยา เช่น มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนถึงเหตุผลและความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในองค์กร ทำให้บุคลากรมีความกลัว ความกังวล ในบางกรณีของการเปลี่ยนแปลง ทั้งๆ ที่การเปลี่ยนแปลงนั้นนำมาซึ่งสิ่งที่ดีกว่า แต่กลับมีความกลัวว่างานเข้า และจะต้องสูญเสียในสิ่งที่เคยได้รับไป การสื่อสารกับบุคลากรกลุ่มนี้ในรูปแบบการโค้ชช่วยได้  ที่สำคัญคงต้องกลับมาดูขั้นตอนการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงในองค์กรว่ามีรอยรั่วตรงไหนหรือไม่

     ห้าปัจจัยดังกล่าวนี้ ช่วยเป็นแนวทางในการพิจารณา เพื่อให้เราเป็นส่วนหนึ่งของทางออก (Solution) และช่วยกันพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ไม่ควรนำมาเป็นข้ออ้างว่าทำให้ไม่มีผลงาน เพราะถ้าคิดเช่นนั้น อาจทำให้เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา (Problem)