เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ด้วยอีคิว!
- Published: Jun 29, 2017 15:41
- Writer: Post Today | 1 viewed
การบริหารจัดการอารมณ์ของตัวเองอย่างฉลาด มีสติ และรู้เท่าทัน ถือเป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่จะช่วยให้คุณรับมือกับการทำงานได้ดีขึ้น รวมทั้งเป็นปัจจัยพื้นฐานของความสุขและความสำเร็จในชีวิต แม้เราจะไม่สามารถควบคุมปัจจัยภายนอกได้ แต่สิ่งที่เราสามารถควบคุมได้แน่ก็คือจิตใจของตัวเราเอง ทักษะในการบริหารอารมณ์หรืออีคิวนี้ ถือได้ว่าเป็นคุณสมบัติที่คนทำงานทุกคนต้องมี คุณล่ะ!
เรียนรู้เรื่องอีคิวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
1. เปิดใจให้กว้างมากขึ้น
เพื่อจะได้มีทางเลือกใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในการใช้แก้ปัญหาต่างๆ บอกตัวเองว่าทางเลือกมีมากกว่าหนึ่ง ทางออกมีมากมาย เผื่อใจไว้ด้วยการเปิดรับข้อมูลความรู้จากแหล่งต่างๆ เสมอ นอกจากนี้ก็ต้อง “รู้” ปัญหา หมายถึงรู้ว่าอะไรคือปัญหา ระบุให้ชัดเจนว่าปัญหาของคุณคืออะไรกันแน่ ปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขในเวลานั้นคืออะไร
2. มีความยืดหยุ่น
ฝึกตัวเองให้เป็นคนยืดหยุ่น ผ่อนปรนหรือปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ด้วยแนวทางใหม่ๆ เครื่องมือใหม่ๆ ที่ไม่เคยใช้มาก่อน ถามตัวเองว่า คุณมีความสามารถในการแก้ปัญหาตรงหน้าได้กี่วิธี หรือจะทำอย่างไรถ้าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป
3. มองโลกแง่ดี
ปัญหาคือความท้าทาย ความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่เกิดขึ้น อาจสร้างปัญหาให้ทั้งนั้น นี่คือเรื่องดีไม่ใช่เรื่องเครียด
4. หมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลง
เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หรือหากมีปัญหาเกิดขึ้นแล้วก็จะได้เห็นช่องทางในการแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น
5. ความหาสาเหตุและเรียนรู้
ศึกษาว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้น โดยให้พิจารณาทั้งในส่วนของความรู้สึกและข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมดประกอบกัน วิธีนี้ดีกว่าที่จะมุ่งไปเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง รวมทั้งไม่หยุดศึกษาหาความรู้
คนทำงานต้องเรียนรู้ตลอดเวลา โดยเฉพาะแนวทางการแก้ปัญหา คนที่คุณเรียนรู้จากเขานั้น คนๆ นั้นอาจเป็นหัวหน้าของคุณ เพื่อนร่วมงานของคุณหรือเป็นเพียงลูกน้องตัวเล็กๆ แต่มีความสามารถในการแก้ปัญหาได้ดีภายใต้สถานการณ์หรือเงื่อนไขบางอย่าง คำแนะนำก็คือคุณเรียนรู้ได้จากทุกคน
6. ทำงานเป็นทีม
ปัญหาบางอย่างแก้คนเดียวไม่ได้ อาจต้องฟอร์มทีมขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการปัญหานั้นๆ อย่างเป็นระบบ วางจุดมุ่งหมายของทีมให้อยู่ในทิศทางเดียวกัน อาจทดลองนำวิธีการที่คิดว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้นั้นไปทำการวิเคราะห์ว่า สามารถเป็นไปได้และมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน
ในส่วนนี้อาจมีทีมงานร่วมคิดวิเคราะห์ด้วย อาจจะมีการพัฒนาหรือปรับปรุงวิธีการแก้ไขปัญหานั้นๆ ให้ดีขึ้น ตรงจุดนี้จะดีตรงที่ทำให้ผู้ที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหารับรู้ก่อนว่า จะมีการจัดการกับปัญหาเช่นไร จะได้มีการเตรียมตัวหรือรองรับกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งยังทำให้การเตรียมการในการแก้ปัญหามีความรวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย
7. สร้างระบบของตัวเอง
สิ่งที่เข้ามากระทบในแง่ลบ บริหารจัดการให้กลายเป็นแง่บวก ฝึกตัวเองอย่างจริงจังแล้วคุณจะพบว่า มันไม่ยากเลย ในการที่จะใช้ความรู้ความสามารถ เหตุผล สัญชาตญาณ อารมณ์ความรู้สึกร่วมกันในการเสาะแสวงหาวิธีการที่จะแก้ปัญหานั้นๆ ว่า มีวิธีการใดบ้าง ซึ่งการแก้ปัญหาบางปัญหานั้น อาจมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี แต่จะมีเพียงวิธีเดียวที่จะสามารถจัดการปัญหานั้นๆ ได้อย่างเหมาะสมรวดเร็วที่สุด
8. ทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก
ใส่อารมณ์ขันและความรู้สึกสนุกสนานลงไปในการทำงานของคุณด้วย รวมทั้งปัญหาบนโต๊ะทำงานบางปัญหาก็ต้องการอารมณ์ขันของคุณด้วย ใช้วิธีคิดว่าคุณกำลังเล่นเกมที่ปัญหาต่างๆ จะทำให้คุณได้แต้มจากการเข้าไปคลี่คลายหรือใกล้จะคลี่คลายได้ เชื่อสิว่าคุณจะเป็นฝ่ายชนะในเกมเสมอ
9. ถอยหลัง 1 ก้าว
หากคุณรู้สึกว่าในตอนนี้อ่อนล้ากับปัญหาที่รุมเร้าจากการทำงาน และยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาใดๆ ได้ในขณะนี้ ก็ไม่ผิดกติกาที่จะถอนตัวเองออกมาสักพักหนึ่ง เพื่อเป็นการผ่อนคลายตัวเอง คุณสามารถหากิจกรรมที่ช่วยให้ได้ผ่อนคลายความเครียด ผ่อนคลายความเหนื่อยล้า หลายคนมีเพลงที่ช่วยได้ หลายคนใช้วิธีปิดลิ้นชักการงาน แล้วเปิดลิ้นชักสันทนาการ สับสวิตช์เพื่อเอาตัวเองออกจากสถานการณ์สักระยะหนึ่ง
10. ประเมินผล
ขั้นตอนสุดท้ายคือการประเมินผล ประสิทธิภาพจากการทำงานวัดจากการแก้ปัญหา ประเมินผลจากวิธีการแก้ปัญหาที่นำไปใช้นั้น ได้ผลดีมากน้อยเพียงไร อย่าลืมเรียนรู้และสรุปบทเรียน (ของตัวเอง) ทุกครั้งด้วยนะ