มนุษย์เงินเดือน (ไม่อยาก) ถังแตก ใช้วิธีนี้
- Published: Jun 21, 2017 14:53
- Writer: Post Today | 1 viewed
คนรับเงินเดือนประจำก็อาจต้องเจอปัญหาเงินเดือนไม่พอใช้ ในบางเดือนที่มีปัจจัยนอกเหนือรายจ่ายประจำเข้ามายุ่งเกี่ยว ในวันหยุดที่ผ่านมาใช้เงินพักผ่อนกับครอบครัวบานปลายไปบ้างอะไรบ้าง รายได้ที่เข้ามาเดือนนี้จึงไม่เพียงพอต่อรายจ่ายอย่างเช่นเดือนที่ผ่านๆ มา ใครกำลังเป็นมนุษย์เงินเดือนที่กำลังถังแตกลองแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ดู
➤ หยุดนำเงินอนาคตมาใช้
การแก้ปัญหารายได้ไม่พอใช้ด้วยวิธีกู้หนี้ยืมสิน หรือกดเงินสดจากบัตรเครดิตต่างๆ ออกมาใช้ ร้ายแรงที่สุดคือแก้ปัญหาด้วยกู้เงินนอกระบบได้เงินด่วนทันใจ กู้เงินได้แม้ประวัติทางการเงินไม่ดี หรือติดแบล็กลิสต์ แต่นี่คือนรกที่มีจริงเมื่อในที่สุดหลีกเลี่ยงไม่ได้กับการจ่ายอัตราดอกเบี้ยสูงเกินจริง โดยอาจจะคิดเป็นรายวันหรือรายเดือน ทำให้ยากที่จะสามารถผ่อนเงินต้นได้หมด เมื่อผิดนัดอาจจะโดนทวงหนี้แบบโหดร้าย ได้เจอทั้งด่าว่า ข่มขู่ หรืออาจทำร้ายร่างกายจากเจ้าหนี้บางราย อย่าลืมว่าเงินที่ได้มาจากการหยิบยืมเป็นเงินอนาคต ไม่ว่าอย่างไรเราก็ต้องใช้คืน แล้วการต้องมาจ่ายคืนหนี้สินก็ยิ่งทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพมากขึ้นไปอีก ดังนั้น หากถ้าใครคิดจะแก้ปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง ก็ควรหยุดการเพิ่มหนี้สิน และพึงจดจำให้ขึ้นใจว่า มีน้อย ใช้น้อย ดีที่สุด ถ้าไม่อยากกลายเป็นคนล้มเหลวทางการเงิน
➤ หาวิธีเพิ่มรายได้
หางานอย่างอื่นเสริม ทำนอกเวลางาน ทำวันหยุด ดีไม่ดีทำไปทำมางานเสริมอาจกลายเป็นงานประจำก็ได้ คนเคยทำแต่งานประจำก็อาจพานคิดไปว่าแค่งานรูทีนอย่างเดียวก็ไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นแล้ว บางคนสามารถทำงานได้ถึง 3 อย่างในเวลาเดียวกัน ลองคิดดูเรามีทักษะ มีความรักความฝันทางไหนบ้าง
➤ ลดรายจ่าย
โดยเฉพาะรายจ่ายฟุ่มเฟือย เช่น ค่าอินเทอร์เน็ตรายเดือนความเร็วยิ่งสูง ราคาก็จะยิ่งสูงขึ้นไปด้วย ซึ่งถ้าว่าไปตามจริงแล้ว แค่ท่องเว็บวาไรตี้ และดูยูทูบ ก็ไม่จำเป็นต้องเลือกใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ใช้แค่ความเร็ว 10 เมกะไบต์ก็เกินพอแล้ว แถมยังช่วยตัดรายจ่ายเกินความจำเป็นได้ แพ็กเกจมือถือเดือนละร่วม 1,000 บาท แต่ชีวิตประจำวันกลับใช้สัญญาณไว-ไฟที่ทำงานมากกว่า แล้วอย่างนี้จะเสียค่าโทรศัพท์รายเดือนที่แพงเกินการใช้งานของเราทำไม การตัดค่าใช้จ่ายแรกๆ รู้สึกชีวิตไม่สะดวกสบายค่อนข้างลำบาก แต่ทำไปสักพักจะอยู่ตัว
อย่าท้อต่อให้เงินเดือนน้อยนิด หากรู้จักวางแผน มีวินัย รู้จักคุณค่าของเงิน และรู้จักความพอดีของชีวิตแล้ว จะสามารถใช้จ่ายได้อย่างมีความสุขในจำนวนเงินที่ได้รับ
➤ เงินก้อนเล็กกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ (ได้นะ)
เพียงแค่เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมข้อที่ผ่านมา อาจประหยัดเงินได้เดือนละ 500 บาท อย่ามองว่าแค่ 500 บาทเท่านั้น ปรับลดลงสักหน่อย เดือนละ 500 บาทเท่านั้น ไม่มากเลย K-Expert แนะนำเงินมาลงทุนในกองทุนรวมอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน โดยที่เราไม่ต้องใช้เงินใหม่ เพียงแค่นี้เราก็จะมีเงินงอกเงย เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ แถมผลตอบแทนในส่วนของกำไรที่ได้รับยังไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย โอกาสได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5% ต่อปี เมื่อเวลาผ่านไปเงินส่วนนี้จะงอกเงยมากขึ้น เงินก้อนเล็กๆ เพียงแค่นี้ คำนวณในเวลา 5 ปี มีเงิน 34,003 บาท 10 ปี 77,642 บาท 15 ปี 133,645 บาท 20 ปี 205,517 บาท 25 ปี 297,755 บาท 30 ปี 416,130 บาท วินัยทางการเงิน กับเงินเดือนของเรา บางคนอาจบอกทำยากแต่ก็ต้องทำ และทำอย่างสม่ำเสมอด้วย
แบ่งเงินเดือนสามส่วน
หากไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เงินหมดกระเป๋าก่อนสิ้นเดือน เราควรแบ่งใช้เงินให้เป็นระเบียบมากขึ้น โดยควรแบ่งเงินเดือน ออกเป็นสามส่วนดังนี้ รายจ่ายที่ต้องจ่ายทุกเดือน ส่วนแรก 50% ใช้กับรายจ่ายประจำ เช่น จ่ายหนี้สิน หนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต และผ่อนๆๆ อะไรก็ตามสารพัดสารพัน หากรายจ่ายต่างๆ ที่ว่านี้เกินครึ่งหนึ่งของเงินเดือน นั่นคือสัญญาณว่าชีวิตมนุษย์เงินเดือนเริ่มลำบากแล้ว ต้องหยุด ต้องตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกทันที
เงินรายได้ (เงินเหลือใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน) ส่วนที่สอง 25% เป็นเงินใช้ส่วนตัว เริ่มตั้งแต่ค่าอาหาร ค่ารถ ค่าน้ำและค่าไฟ เงินสำหรับบุพการี ลูก หรือการพักผ่อนหย่อนใจ ท่องเที่ยว ดูหนัง กินอาหารนอกบ้าน และอื่นๆ จิปาถะ เงินส่วนนี้ถ้าหากอยากมีเงินใช้มากๆ ก็หาเงินเดือนให้ได้มากขึ้น ก็จะใช้อย่างสบาย พวกมนุษย์เงินเดือนอาจมาถังแตกก็ตรงนี้ คือ กดเงินจากเอทีเอ็มมาใช้อย่างเพลิดเพลิน ลองจัดการวิธีใช้เงินโดยถอนแค่เดือนละ 1 ครั้งเท่าที่จะใช้ แล้วทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อให้รู้ว่าเราใช้อะไรไปบ้างเกินความจำเป็นหรือเปล่า อยากรู้ว่าเงินตัวเองหายไปไหนในแต่ละเดือนก็ต้องจดไว้ว่าจ่ายกับอะไรไปบ้าง
ส่วนที่สาม 25% สุดท้าย คือเงินออม บางคนบอกว่าเก็บ 10% ยังยากเลยสำหรับยุคนี้ จะยุคนี้ ยุคไหน ก็ยากลำบากเหมือนกันทั้งนั้น ซึ่งหากเราไม่เริ่มเก็บอนาคตยิ่งยากลำบาก คนมีรายจ่ายน้อยก็อาจจะออมมากกว่า 30% ก็ได้ แล้วเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น เราก็ต้องเก็บมากขึ้น