Bangkok post> Jobs > Career guide

ฉลาดทำงาน แบบญี่ปุ่น

  • Published: Jun 6, 2017 17:47
  • Writer: Post Today | 1 viewed


     เราต้องทำได้ เพราะงานคือชีวิต เพราะฉะนั้นก็เชิญชวนให้มาทำงานอย่างรู้ทันเท่าทัน ได้ทั้ง(ผล)งานและได้ทั้งความสุข วิธีฝึกคิดในการทำงานในสไตล์ของคนญี่ปุ่น “Get Happy Everyday”  ที่อาจส่องประกายให้คุณทำงานได้สนุกขึ้น

     มาปรับโหมดการทำงานแบบคนญี่ปุ่นกันเถอะ!

     คนญี่ปุ่นเป็นคนจริงจัง แต่เขาจะเริ่มเข้าสู่โหมดการทำงานด้วยงานง่ายๆ คีย์เวิร์ดที่สำคัญคือคำว่า “เปิดสวิตช์” นึกภาพสวิตช์ไฟที่คุณเป็นกดปุ่มเปิดด้วยตัวเอง “แชะ!” หรืออะไรทำนองนั้น

1. อย่า “ไม่มีอารมณ์ทำงาน”

บางครั้งแม้คุณนั่งที่โต๊ะทำงานแล้ว แต่ยังเหม่อลอยไม่มีอารมณ์ทำงาน นั่งเหม่อแล้วเหม่ออีก ใจลอยไปที่โน่นที่นี่แบบไม่รู้จบ แถมงานก็ไม่เดิน ทำให้คนรอบข้างเพื่อนร่วมงานอึดอัด ถ้าเป็นแบบนี้ลองปรับโหมดใหม่ เอื้อมมือไปแตะ “สวิตช์การทำงาน” หลายคนมีวิธีเปิดสวิตช์ที่ไม่เหมือนกัน ลองสังเกตตัวเองว่าคุณมีวิธี “เปิด” สวิตช์ของตัวเองอย่างไร ถ้ายังไม่เจอ ลองวิธีง่ายๆ ต่อไปนี้ เช่น ทำความสะอาดโต๊ะ วิธีนี้ถือเป็นการปรับเปลี่ยนอารมณ์ที่ดี ทำอย่างสบายๆ ไม่ต้องเครียด แค่เช็ดเบาๆ เก็บเศษกระดาษทิ้ง ฯลฯ เช็ดโต๊ะเสร็จก็ลุยเลย!

2. งานฉลุยด้วยการจัดระเบียบ

สำหรับบางคนจัดระเบียบเป็นเรื่องดี เพราะหมายถึงการวางแผนไว้คร่าวๆ ว่าจะทำอะไรบ้าง ถ้าคุณยังเป็นมือใหม่ ให้เริ่มด้วยการจัดตารางงานล่วงหน้า 1 วัน โดยก่อนเริ่มทำงานให้ลองจัดตารางงานของวันนั้นๆ ด้วยการวางแผนคร่าวๆ วิธีนี้จะช่วยลดความสูญเสียหรือความสูญเปล่าของเวลา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รวมทั้งป้องกันความผิดพลาดได้

กรณีไม่เป็นไปตามแผนล่ะ บ่อยครั้งที่แผนซึ่งวางไว้ไม่เป็นไปตามที่คาด ก็ไม่ต้องอะไรมาก ถ้าไม่เป็นไปอย่างที่คิด ก็ให้ปรับแก้หรือยืดหยุ่นให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ พิจารณาจากหน้างานว่าอะไรควรทำหรือควรเป็นไปอย่างไร ไม่ต้องคิดกังวลจนหงุดหงิด เพราะงานคือการแก้ปัญหาอยู่แล้วคุณถูกจ้างมาให้ทำสิ่งนี้

3. แยกแผนงานกับความเป็นจริงออกจากกัน

การวางแผนก็คือการเตรียมสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ต้องแยกแผนงานออกจากความเป็นจริง ถ้าเข้าใจดีแล้ว แม้มีงานราษฎร์งานหลวงเข้ามาแทรก ก็จะไม่หงุดหงิด “ช่วยไปทำนั่นที ช่วยไปทำนี่ที อย่าลืมไปถ่ายเอกสารด้วย” เรื่องแบบนี้เป็นธรรมชาติของการทำงาน ในระยะยาวคุณจะวางแผนได้ดีขึ้น วางแผนได้ใกล้เคียงความเป็นจริงหรือความน่าจะเป็นที่จะเกิดขึ้นได้มากขึ้น เตรียมรับมือกับความผิดพลาดได้ดีเพียงไร คือความเป็นมืออาชีพที่ทรงประสิทธิภาพเพียงนั้น

4. คนญี่ปุ่นไม่เกี่ยงงาน

สลายอาการเกี่ยงงานถ้ามี คุณเกี่ยงงานหรือเปล่า สิ่งนี้เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน คนทำงานสไตล์ญี่ปุ่นจะชอบหรือไม่ชอบ ก็ทำ ในโหมดของงานแล้วไม่มีคำว่า “ชอบ” หรือ “ไม่ชอบ” เช่น ไม่ชอบงานคีย์ข้อมูล ไม่ชอบเข้าประชุม ไม่ชอบไปกินเลี้ยง ไม่ชอบทำงานกับแผนก...ฯลฯ ถ้าเผลอออกอาการหน้านิ่วคิ้วขมวดหรือโอดครวญเวลาได้งานที่ไม่ชอบ คุณจะเป็นคนที่ไม่มีใครอยากมอบหมายงานสำคัญให้ทำ

5. สะสมความสำเร็จ

คนญี่ปุ่นไม่เบื่องาน แต่จะมองหาความสนุกในงานตามแบบฉบับของตน บางคนใช้วิธีจับเวลาในการทำงาน แล้วตั้งเป้าหมายทำลายสถิตินั้น มีตั้งแต่การทำลายสถิติส่วนบุคคลและสถิติส่วนแผนกหรือองค์กร ถ้าทำได้ก็จะยินดี “ไชโย! เสร็จเร็วกว่าครั้งก่อนอีก” หรือ “คราวนี้จะรีบทำให้เสร็จกว่าแผนกบุคคล ฉันต้องทำได้” เป็นการสะสมความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ได้ทั้งงานและได้ทั้งความสนุก

     บางทีลองเปลี่ยนความคิดเพียงนิดหน่อย งานที่น่าเบื่อก็ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป อาจลองคิดว่า ถ้างานนี้เสร็จเมื่อไหร่ ก็จะได้เริ่มวางแผนอื่นสักที หรือต้องทำงานนี้ให้ดีๆ เพราะส่งผลต่อการเจรจาและความสำเร็จของโครงงานทั้งหมด อย่างนี้เป็นต้น คิดไม่เหมือนเดิม ผลลัพธ์ก็ต่างไปจากเดิม บางครั้งยังทำให้ได้โอกาสใหม่ๆ ด้วย