เสริมกำลังทำงานด้วยหลักธรรม
- Published: May 8, 2017 12:37
- Writer: Post Today | 1 viewed
ในชีวิตการทำงานย่อมมีความสำเร็จและความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ แม้จะมีหนังสือชี้นำแนวทางแห่งความสำเร็จต่างๆ มากมาย แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในการทำงานมาได้ ต้องขึ้นอยู่กับใจเราล้วนๆ เพราะในทุกวันทุกปีจะมีอุปสรรคในการทำงานเข้ามาท้าทายความสามารถเราเสมอ
ว่ากันว่าหากเราสามารถฝ่าฟันปัญหาในการทำงานเหล่านี้มาได้ จะกลายเป็นประสบการณ์ที่มีค่าในการบริหารงานและคนต่อไป
ดังนั้น การที่เราจะไปถึงตรงจุดนั้นได้ก็ต้องมีหลักยึดเหนี่ยวจิตใจเพื่อเพิ่มพลังในการทำงาน ซึ่งตามหลักพระพุทธศาสนานั้นก็มีหลักธรรมบางข้อ ที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตการทำงานได้เสมอ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม นั่นคือหลักอิทธิบาท 4
1. ฉันทะ
เราต้องมีความรักและเห็นคุณค่าในงานของเรา ไม่ว่างานนั้นจะเป็นงานเล็กหรือใหญ่ งานที่ได้เงินเดือนสูงหรือเงินเดือนต่ำ หากเรารักในสิ่งที่ทำและเห็นคุณค่าในงาน งานนั้นก็จะออกมาดี มีศักดิ์ศรีมีเกียรติให้ผู้คนยกย่อง
แม้กระทั่งงานคนขับรถแท็กซี่ที่สังคมเริ่มรุมประณาม ว่าเป็นอาชีพที่มีแต่คนไม่ดี แต่ถ้าดูจริงๆ แล้วหากพวกเขาขับรถดีมีมารยาท ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร ย่อมได้รับคำขอบคุณจากผู้โดยสารเสมอ เพราะงานพวกเขาคืองานบริการที่ช่วยเหลือผู้คนจำนวนมากให้เดินทางอย่างสะดวกสบายนั่นเอง
2. วิริยะ
คือความขยันหมั่นเพียรกระตือรือร้นในการทำงาน แม้เป็นงานที่น่าเบื่อที่สุดในการทำสิ่งเดิมๆ ทุกวันซ้ำซาก แต่หากเรามีความกระตือรือร้นแข็งขันในการทำงาน งานก็ย่อมออกมาดีเสมอ แม้บางวันอาจจะรู้สึกเบื่อไปบ้าง แต่วัน
พรุ่งนี้เราต้องตั้งเป้าใหม่ว่า เราต้องกลับมากระตือรือร้นในการทำงานราวกับว่าเราเพิ่งเข้าทำงานใหม่ๆ หรืออาจจะหาลูกเล่นในการทำงานเล็กๆ น้อยๆ เพิ่มความสนุกและความท้าทายในการทำงานไปให้ถึงเป้าหมายก็ได้
3. จิตตะ
คือความเอาใจใส่ต่องาน และแน่นอนว่าความเอาใจใส่ก็ต้องมาพร้อมกับการมีสมาธิ ทุกวันนี้คนเรามีสมาธิในการทำงานสั้นลงอันเป็นผลจากการใช้โซเชียลมีเดีย หากโชคร้ายกว่านั้นได้ทำงานในออฟฟิศที่มีคนพลุกพล่านพูดคุย และเดินผ่านไปผ่านมาก็ยิ่งทำให้เรามีสมาธิในการทำงานสั้นลงไปอีก
ซึ่งคุณอาจจะต้องฝึกสมาธิเพิ่มเติมหรือไม่แล้วต้องหาวิธีการอื่นๆ เพื่อทำให้คุณมีสมาธิในการทำงานเพิ่มขึ้น และสุดท้ายไม่ว่าคุณจะทำงานอะไรก็ตาม การทบทวนขั้นตอนการทำงานซ้ำอีกรอบ จะช่วยลดความผิดพลาดในงานนั้นให้เหลือน้อยที่สุด
4. วิมังสา
คือความไตร่ตรองพิจารณา เมื่อเรามีใจรักในการทำงาน มีความกระตือรือร้น และความเอาใจใส่ต่องาน ข้อสุดท้ายการพิจารณางานก็เป็นสิ่งสำคัญ พิจารณาอย่างมีสติปัญญา เทียบงานเรากับคู่แข่ง และมองหาสิ่งใหม่ๆ ใส่ในงานเราเสมอ หากคุณเป็นช่าง การหาเทคนิคและเทคโนโลยีการซ่อมหรือสร้างใหม่ๆ จะทำให้คุณเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของลูกค้าเสมอ