ระวังอันตรายหน้าร้อน
- Published: Mar 24, 2017 13:12
- Writer: นสพ. M2F ฉบับวันที่ 20 มีนาคม 2560 | 1,435 viewed
แม้ว่าคนไทยจะคุ้นชินกับสภาพอากาศและอุณหภูมิที่สูงขึ้นในช่วงหน้าร้อน แต่ก็ต้องระวังสุขภาพเป็นพิเศษ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ฤดูร้อนปีนี้จะมีผู้ป่วยโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก ประมาณ 150-400 คนต่อเดือน และมากสุดในเดือน เม.ย.-พ.ค. พร้อมเตือนให้ระวัง 4 อาการที่มาพร้อมกับแดดแรงๆ อากาศร้อนอบอ้าว
1. ลมแดด (ฮีทสโตรก)
คือภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้ ซึ่งเกิดจากมีความร้อนในสิ่งแวดล้อมสูงจนร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ตามปกติ พบได้บ่อยในผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน นักกีฬา หรือทหาร โดยจะรู้สึกอ่อนเพลีย หน้ามืด หากมีอาการรุนแรงจะตัวร้อนจัด เหงื่อไม่ออก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เป็นลม อาจถึงแก่ชีวิตได้
2. เพลียแดด
มีอาการคล้ายลมแดด แต่อาจจะยังไม่ถึงขั้นมีอาการชักหรือเป็นลมล้มพับ อาการเพลียแดดสามารถเป็นได้ตั้งแต่ปวดศีรษะ มึนหัว บ้านหมุน หน้ามืด อ่อนเพลีย หมดแรง คลื่นไส้ ถึงจะยังไม่หมดสติแต่การขาดสติสัมปชัญญะไปบางส่วนอาจเกิดอันตรายระหว่างทำงานหรือทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น เพลียแดดระหว่างทำงานกับเครื่องจักรกลหรือระหว่างขับรถ
3. ตะคริวแดด
สำหรับนักวิ่งหรือคนที่ชอบวิ่งออกกำลังกาย ลักษณะอาการเหมือนกับตะคริวธรรมดา กล้ามเนื้อกระตุก เกร็งและรู้สึกปวด เจ็บในบริเวณที่เป็นตะคริวมากจนวิ่งต่อไปไม่ไหว อาการตะคริวที่พบมักเป็นช่วงขา แขน และหลัง หากมีอาการตะคริวแดดให้หยุดวิ่ง อยู่นิ่งๆ แล้วค่อยๆ ดื่มน้ำ หรือดื่มน้ำผลไม้ เพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย ชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่เสียไป
4. ผิวหนังไหม้เกรียมแดด
บางครั้งงานหรือกิจกรรมความสนุกอาจทำให้เราลืมดูแลผิว และไม่ได้ทาครีมกันแดด ซึ่งต่อมาก็จะเป็นสาเหตุของผิวหนังไหม้เกรียมแดด ผิวลอก แสบ นอกจากเจลเย็นๆ แก้ผิวไหม้ที่มีขายแล้ว ว่านหางจระเข้ก็ช่วยทำให้ผิวดีขึ้นได้ แต่ดีที่สุดคือการป้องกันด้วยเสื้อผ้า หมวก หรือแว่นตา