Bangkok post> Jobs > Career guide

เพิ่มพลังสมองให้แจ่มใส


     เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะเคยมีอาการแบบนี้กันบ้าง เช่น ลืมชื่อคนบางคน จำไม่ได้ว่าจอดรถไว้ตรงไหน ลืมว่าวางโทรศัพท์ไว้ที่ไหน อาการเหล่านี้ถือเป็นอาการหลงลืมทั่วไปที่คนเราสามารถเป็นได้นานๆ ครั้ง และในปัจจุบันอาการเหล่านี้ไม่ได้ปรากฏแค่ในกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น เพราะพบแม้แต่หนุ่มสาวอายุ 30 หรือ 40 ปี ก็เริ่มมีปัญหาเรื่องความจำบ่อยขึ้น และจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนน่าตกใจ

     แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองจากสหรัฐ ได้มาแบ่งปันมุมมองความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อสมองมนุษย์ และรูปแบบพฤติกรรมการใช้ชีวิตในสังคม โดยคุณหมอบอกว่า คนเจเนอเรชั่นมิลเลนเนียลหลายล้านคนทั่วโลกเสพติดอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทำให้สมองของคนเราได้รับการกระตุ้นจากอุปกรณ์สื่อสารเป็นหลัก

     คุณหมอยังได้แบ่งปันผลสำรวจของเฮอร์บาไลฟ์ ซึ่งทำการสำรวจพนักงานออฟฟิศที่มีอายุระหว่าง 25-45 ปี ในไต้หวันเมื่อปีที่ผ่านมา พบว่า 61% ของคนทำงานกลุ่มนี้ ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นาน 6-10 ชม.ต่อวัน และ 78% รู้สึกว่าการใช้อุปกรณ์เหล่านี้นานเกินไปมีผลกระทบต่อความจำของพวกเขา รวมทั้งประมาณ 60% ยอมรับว่า ถึงขั้นหลงลืมข้าวของส่วนตัว

     สำหรับประเทศไทย รายงานล่าสุดของ Google Consumer Barometer เผยว่า 53% ของคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตทุกวัน และ 70% ของคนไทยใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น นับจากเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

     รายงานวิจัยหลายฉบับชี้ให้เห็นว่า ชาวมิลเลนเนียลจำนวนมากที่โตมาในยุคดิจิทัล เริ่มแสดงอาการที่เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงปัญหาเรื่องความจำระยะสั้น และโรคเกี่ยวกับความจำอื่นๆ ตลอดจนเสียสมาธิง่าย และมีอาการหลงลืมด้วย

ฝึกฝนสมองให้แข็งแรงและเฉียบแหลมอยู่เสมอ

     รายงานวิจัยหลายฉบับของนายแพทย์ ยังบอกด้วยว่า พันธุกรรมเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของโรคสมองเสื่อม อาการของโรคอัลไซเมอร์ และสัญญาณอื่นๆ ของภาวะสมองเสื่อมถอย แต่ความจริงแล้วยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ สภาพร่างกาย วิธีจัดการกับความเครียด การกระตุ้นการทำงานของสมองและโภชนาการที่เราต้องให้ความใส่ใจกันมากขึ้น

     ข่าวดีก็คือ ความจำของเราไม่จำเป็นต้องเสื่อมถอยไปตามวัย มีรูปแบบการใช้ชีวิตมากมายที่ช่วยลับสมองให้เฉียบแหลมอยู่เสมอ การออกกำลังกายก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยให้เซลล์สมองกระฉับกระเฉงตื่นตัว ในขณะที่วิธีการฝึกฝนสมองและทบทวนความจำ เช่น เกมปริศนาอักษรไขว้ ซูโดกุ หรือการเรียนรู้ภาษาใหม่ๆ ก็ช่วยเสริมสร้างสมองได้เหมือนกัน การลดความเครียดจะช่วยลดความเสี่ยงของการสูญเสียความจำได้ เนื่องจากคนที่มักมีอาการเครียดจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคด้านสมองได้ง่ายกว่า

     นอกจากนี้ คุณหมอยังกล่าวถึงผลวิจัยล่าสุดที่ทำการทดสอบกับอาสาสมัครสูงอายุกว่า 900 คน พบว่า การปรับนิสัยให้หันมากินอาหารที่ดีต่อสุขภาพสมอง ซึ่งอุดมไปด้วยโภชนาการสำคัญๆ อย่าง ถั่วต่างๆ ผักและผลไม้ เมล็ดถั่ว น้ำมันมะกอก ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี และปลา ช่วยชะลอการเสื่อมถอยของความสามารถในการรับรู้ได้เป็นอย่างมาก

     ทั้งนี้ เป็นเรื่องสำคัญมากที่คนทุกเพศทุกวัยต้องตระหนักว่า มีวิธีการเสริมสมรรถภาพด้านสมองอย่างง่ายๆ และนำไปใช้ได้จริงมากมาย ไม่มีคำว่าเร็วเกินไปที่จะเริ่มฝึกฝนสมองกันตั้งแต่ตอนนี้ คนรุ่นใหม่อาจจะเริ่มจากการฝึกทักษะง่ายๆ เช่น เทคนิคการจำ และการพูดคุยสื่อสารแบบพบเจอหน้ากัน ซึ่งจะช่วยฝึกเรื่องการสบตาคู่สนทนา และกิริยาท่าทางในการสนทนาโดยไม่ต้องใช้คำพูดไปด้วยในตัว ลองใช้วิธีการฝึกฝนสมองแบบนี้ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน รวมทั้งนอนหลับให้เพียงพอ จัดการกับความเครียด และกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพสมอง เมื่อเราปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้กระฉับกระเฉงและมีสุขภาพดีกันตั้งแต่วันนี้ สมองของเราก็จะแจ่มใสแข็งแรงไปอีกนาน