เทรนด์องค์กรปรับ รับมนุษย์เงินเดือนติดโซเชียล
- Published: Mar 8, 2017 15:42
- Writer: Post Today | 1 viewed
องค์กรต่างๆ จะก้าวทันนโยบายประเทศไทย 4.0 ได้ นอกจากการมีบุคลากรที่มีความสามารถในการคิดและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งก็คือ การปรับรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับยุคสมัย เพราะหากมีคนเก่ง แต่รูปแบบการทำงานไม่เอื้ออำนวยคนเก่งเหล่านี้ก็อาจอำลาองค์กรอย่างรวดเร็ว หรือไฟในการทำงานที่ลุกโชนก็อาจมอดไหม้ได้ง่ายๆ
บริษัท แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยว่า จากผลวิจัยเรื่องอิทธิพลของโซเชียลมีเดียที่มีต่อคนทำงานในองค์กรในปีที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มตัวอย่าง 1,208 คน เนื่องจากเล็งเห็นว่าโซเชียลมีเดียจะเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานไปอย่างสิ้นเชิง จึงต้องการให้องค์กรปรับรูปแบบการทำงานเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมมนุษย์เงินเดือนยุคใหม่
จากการสำรวจพบว่า มนุษย์เงินเดือนใช้โซเชียลมีเดียในวันและเวลาทำงานมากกว่าวันเสาร์-อาทิตย์ โดยใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก และนิยมใช้ในช่วงพักรับประทานอาหารกลางวัน รวมทั้งยังพบว่า คนทำงานจะใช้โซเชียลมีเดียทุกวัน วันละไม่เกิน 2 ชั่วโมง โดยใช้เวลากับโซเชียลมีเดียทดแทนการใช้เวลากับสื่อหลัก เช่น ทีวีและสื่อสิ่งพิมพ์อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ คนทำงานมองว่าการใช้โซเชียลมีเดียในที่ทำงานมีข้อดี คือ สามารถสื่อสารข้อมูลไปสู่ผู้คนจำนวนมากได้รวดเร็ว และสะดวก 86.17% รองมาคือ ทำให้เกิดการรวมตัวกันในการทำกิจกรรมดีๆ ได้ง่ายและรวดเร็ว 54.38% ลดช่องว่างการสื่อสาร 53.39% สามารถใช้เป็นช่องทางเผยแพร่ความรู้แก่พนักงานในองค์กร 53.14% เป็นต้น
ในทางกลับกันคนทำงานก็มองเห็นข้อเสียของการใช้โซเชียลมีเดียในที่ทำงานอันดับแรก คือ หลายคนไม่ระวังการใช้ทำให้ผู้อื่นได้รับข้อมูลไม่เป็นสาระหรือเชิงลบ 71.27% รองลงมามองว่ายังมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือของข้อมูล 61.09% และเวลาในการทำงานน้อยลง 59.85%
ขณะที่ผลกระทบที่คนทำงานเคยได้รับจากการใช้โซเชียลมีเดียในที่ทำงาน อันดับแรกคือ มีปฏิสัมพันธ์ลดลง 56.45% เจอนักเลงคีย์บอร์ด ทั้งคำหยาบ คำด่า 30.21% ไขว้เขวจากเป้าหมายที่วางไว้ 28.8% ผลกระทบอื่นๆ ได้แก่ ไม่มีความเป็นส่วนตัวข้อมูลอาจถูกค้นหา 24.75% นอนหลับยากขึ้น 24.17% เรียกร้องความสนใจมากขึ้น เป็นต้น
ผลสำรวจนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า คนทำงานส่วนใหญ่มีทัศนคติเชิงบวกต่อการใช้โซเชียลมีเดียในที่ทำงาน เช่น ช่วยทำให้การติดต่อสื่อสารทำงานสะดวกขึ้น ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำงาน ทำให้เกิดการทำงานเร็วขึ้น แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับอิทธิพลของโซเชียลมีเดียในบางประเด็น เช่น ไม่เห็นด้วยกับการใช้ในการส่งเสริมการขายสินค้า ใช้ในการโฆษณา ทำให้เกิดความตั้งใจในการทำงานได้มากขึ้น มีผลต่อสมาธิในการทำงาน เกิดความรู้สึกผ่อนคลายและพร้อมในการทำงาน
กลุ่มคนทำงานยุคนี้ผ่านการรับสื่อโซเชียลมีเดียมาเกิน 10 ปี แล้วจึงเริ่มรู้เท่าทันว่าสื่อประเภทนี้เอื้อประโยชน์ใดกับตนและสิ่งใดที่ไม่เป็นประโยชน์อย่างชัดเจน รู้จักเลือกใช้ ตามอรรถประโยชน์ จึงเป็นข้อสังเกตว่า ภาครัฐควรสนับสนุนงานวิจัยที่ศึกษาปฏิกิริยาต่อข่าวสารแต่ละประเภทที่ส่งผ่านมาทางโซเชียลมีเดีย ในส่วนขององค์กรที่กำลังทำงานกับคนทำงานกลุ่มมิลเลนเนียลอายุ 20-34 ปี ที่มีข้อมูลข่าวสารอยู่เต็มมือและเป็นกลุ่มที่พร้อมแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ ของสังคมหรือองค์กรตลอดเวลา ก็ควรเปลี่ยนบทบาทองค์กรให้เป็นนักส่งเสริม
ทั้งนี้ เพราะคนทำงานยุคนี้ไม่ใช่แค่แรงงาน แต่เป็นนักคิด นักสร้างสรรค์ การกำหนดนโยบายและเงื่อนไขการทำงานใดๆ จึงต้องพร้อมรองรับความคิดที่แตกต่าง ฝ่ายทรัพยากรบุคคลขององค์กรต้องพร้อมและมีความแม่นยำต่อข้อมูลที่จะตอบคำถามหรือสนับสนุนนโยบายต่างๆ ขององค์กรอย่างน่าเชื่อถือ
นอกจากนี้ องค์กรต้องสร้างการสื่อสารนโยบายและแนวทางการทำงานขององค์กรผ่านโซเชียลมีเดีย ต้องกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับศักยภาพ สร้างแรงจูงใจในการทำงานร่วมกันสอดคล้องกับความต้องการของคนทำงานมากขึ้น เพราะแนวโน้มการเปลี่ยนงานอาจสูงขึ้น จากการที่คนทำงานเปิดเผยศักยภาพอันโดดเด่นของตัวเองได้มากขึ้นผ่านโซเชียลมีเดีย รวมทั้งต้องพร้อมรองรับการทำงานที่สื่อสารกันได้ตลอดเวลาและพร้อมให้ค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์จูงใจคนทำงานต่างออกไปจากรูปแบบเดิม
ท้ายนี้อยากฝากถึงภาครัฐว่า การที่มีกฎเกณฑ์เข้มงวดใดๆ ออกมาเกี่ยวกับเรื่องการใช้โซเชียลมีเดีย อาจกลายเป็นโจทย์ให้คนไม่พอใจและต่อต้านได้ ดังนั้นหากจะมีนโยบายใดๆ ออกมา ก็ควรแบ่งนโยบายออกไปตามกลุ่มผู้ใช้งาน และที่สำคัญที่สุดรัฐบาลแต่ละประเทศควรมีกฎหมายที่เปิดช่องให้ผู้ทำงานอิสระสร้างธุรกิจบนโซเชียลมีเดียได้โดยไม่ติดเงื่อนไขอะไรมากมาย
แนวทางที่คนทำงาน องค์กร และรัฐบาลต้องปรับตัวทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับอิทธิพลโซเชียลมีเดียที่มาแรง และเป็นแนวทางที่จะนำประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมอย่างแท้จริง