Bangkok post> Jobs > Career guide

หนี้สวัสดิการ

  • Published: Mar 1, 2017 17:38
  • Writer: Post Today | 1,206 viewed

 

     น้องคนหนึ่งมาปรึกษาเรื่องหนี้ เธอติดสลิปเงินเดือนมาให้ดูด้วย ข้อมูลในสลิปบอกว่าเธอมีรายได้เดือนละ 1.8 หมื่นบาท จากนั้นก็มีรายการหักไล่เรียงกันลงมาเต็มไปหมด เมื่อเหลือบมองไปที่บรรทัดสุดท้าย นั่นคือเงินคงเหลือที่ได้รับจริงแต่ละเดือน เธอได้รับเงินสำหรับใช้จ่ายทั้งเดือนแค่ 2,200 บาทเท่านั้น

     รายได้ส่วนหนึ่งของเธอถูกหักไปกับประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่นั่นก็แค่ 10% ของรายได้ ส่วนอีกกว่า 80% ของเงินได้ หมดไปกับการตัดชำระหนี้ อาทิ หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ และสินเชื่อที่ผูกกับสวัสดิการบริษัท

     ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ให้คำปรึกษาเรื่องหนี้ ผมพบคนที่มีลักษณะเดียวกันกับน้องผู้หญิงคนนี้มากมาย วันเงินเดือนออกคือวันกู้เงินกินใช้ เพราะรายได้ที่ทำมาตลอดทั้งเดือน มีคนมารอหักอยู่เต็มไปหมด โดยแหล่งเงินกู้สำคัญของคนกลุ่มนี้ก็คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ของบริษัทหรือองค์กร ซึ่งนับวันดูเหมือนจะกลายเป็นสหกรณ์กู้ทรัพย์เสียมากกว่า

     มุมหนึ่งคงเป็นความผิดของน้องคนนี้และเพื่อนๆ เองที่บริหารการใช้จ่ายได้ไม่ดี ทำให้ต้องมีหนี้จำนวนมากรอรุมกินโต๊ะตั้งแต่ต้นเดือน แต่ในอีกมุมหนึ่งที่ผมสงสัยก็คือ

     1) เวลาบริษัทออกสลิปเงินเดือนให้กับพนักงาน พวกเขาเคยดูหรือเปล่าว่ายอดเงินในบรรทัดสุดท้าย หรือ Bottom Line ของพนักงานแต่ละคนเป็นอย่างไร (เงินสดที่รับจริงหลังหักรายการหักต่างๆ)

     2) ถ้าพบว่ารายการหักต่างๆ ทำให้สุดท้ายแล้วพนักงานแทบไม่เหลือเงินไว้กินอยู่ใช้จ่ายเลย บริษัทจะสงสัยบ้างหรือไม่ว่าพนักงานกินอยู่กันอย่างไร

     ที่แย่หน่อยสำหรับเคสนี้ก็คือ น้องผู้หญิงที่ผมเล่าให้ฟังข้างต้น เป็นพนักงานธนาคารครับ ธนาคารปล่อยสินเชื่อสวัสดิการและสหกรณ์ออมทรัพย์ของธนาคารก็ปล่อยให้น้องเขากู้เต็มพิกัดจนมีภาระผ่อนมากขนาดไม่เหลือเงินกินใช้ และพานให้ต้องกู้เป็นวงจรไปเรื่อยๆ

     คำถามคือ ถ้าวันเงินเดือนออกคือวันกู้ใหม่ และต้องเป็นวงจรไปเรื่อยๆ แบบนี้ทุกเดือน ชีวิตจะลืมตาอ้าปากได้อย่างไร ที่สำคัญชีวิตไม่ได้มีแต่เรื่องกินอยู่ แต่ยังมีเรื่องของความต้องการอื่นๆ มาประกอบด้วยอีกหลายอย่าง ถ้าเป็นแบบนี้แล้วไม่มีเงิน ก็ยิ่งต้องกู้เพิ่มเข้าไปอีก สุดท้ายทำงาน 40 ปี ตอนจบจะมีเงินเกษียณหรือเปล่า ก็คงไม่ต้องทำนายให้เสียเวลา

     “สวัสดิการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ” ถือเป็นสวัสดิการที่ถ้าจะใช้ ควรพิจารณาทั้งความจำเป็น และความสามารถในการผ่อนชำระคืนไปพร้อมๆ กัน (อย่ามองจำเป็นอย่างเดียว) มิฉะนั้นการกู้ไปเรื่อยๆ แม้จะดอกเบี้ยต่ำ ก็อาจทำให้เราติดกับดักได้ในวันหนึ่ง

     ในขณะเดียวกัน ผมคิดว่าหลายๆ บริษัทก็ควรทบทวนระบบการให้กู้ยืมของตัวเองด้วยว่า ถ้าให้กู้กันเลยเถิดจนถึงขั้นคนทำงานได้รับเงินจริงเพียง 10-20% ของรายได้ เพราะถูกหักจากหนี้สวัสดิการต่างๆ ไปจนหมด มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่

     บริษัทในฐานะแหล่งสร้างได้ควรพิจารณาระบบสวัสดิการของตัวเองด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้ทุกอย่างเลยตามเลย

     มิฉะนั้น บริษัทหรือองค์กรอู่ข้าวอู่น้ำ จะกลายเป็นแหล่งเพาะหนี้ให้กับผู้คนอีกทางหนึ่งโดยไม่รู้ตัว และวันหนึ่งปัญหาหนี้นี่แหละที่จะกลับมาทำร้ายองค์กรเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้