Bangkok post> Jobs > Career guide

ทำไมทำงานเหนื่อยเกินไป

  • Published: Feb 28, 2017 16:35
  • Writer: Post Today | 1 viewed

 

 

     อะไรทำให้คนเราเหนื่อยล้า? แน่นอนว่าสาเหตุหลักคือทำงานมากเกินไป เนื่องจากมีแรงกดดันด้านเศรษฐกิจ จึงฝืนทนให้จำต้องรับภาระปริมาณงานที่หนักอึ้ง ทำงานหนักแลกกับค่าจ้างเพียงเล็กน้อย แต่นอกเหนือจากจำนวนงานที่มากมายแล้ว นิสัยการทำงานอาจเป็นอีกสาเหตุก็เป็นได้ ใครเข้าข่ายข้อไหนกันบ้าง

ใช้เทคโนโลยีมากเกินไป

แยกไม่ออกระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว นี่อาจเป็นสาเหตุใหญ่ประมาณเส้นผมบังภูเขาที่มองไม่เห็น ไม่รู้ตัวเองก็เป็นไปได้ และปัญหาเรื่องนี้คนทำงานช่วงวัย 20-37 ปี หรือกลุ่มคน Gen Y น่าจะเป็นกลุ่มที่ประสบปัญหานี้มากที่สุด เพราะเปิดกว้างและเห็นความสำคัญความก้าวหน้าของโลกออนไลน์ต่างๆ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับคนกลุ่มเฟิสต์จ๊อบเบอร์ แล้วด้วยธุรกิจทั้งในและนอกประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว ระบบการสื่อสารได้เข้ามามีบทบาทสำคัญและจำเป็นอย่างมากในการทำงานทุกวัน

การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันของสังคม มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันและการทำงาน การพัฒนารูปแบบของการสื่อสารจึงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับรองความต้องการของสังคมในทุกวงการอาชีพ จนกลายเป็นวัฒนธรรมของสังคม การสื่อสารผ่านโทรศัพท์ เป็นวิธีสะดวกรวดเร็วที่สุด มีการโต้ตอบระหว่างกันได้สัมฤทธิผลเสมือนเผชิญหน้า วิธีทางการบริโภคข่าวสารรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์มากมายหลายช่องทาง ซึ่งมีการวิจัยพฤติกรรมใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของคนวัยทํางานเขตกรุงเทพฯ ใช้บริการเครือข่ายช่วง 18.01-22.00 น. มีความถี่ในการเข้าใช้ 7 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยส่งผลกระทบด้านลบทั้งการติดเกม รองลงมาก่อให้เกิดโรคเห่อตามแฟชั่น และผลกระทบอย่างน้อยที่สุดก็ก่อให้เกิดความอิจฉาได้เบาๆ กันแล้ว ใครเข้าข่ายนี้ต้องลดความถี่ในการจมอยู่ในออนไลน์ลงบ้าง และหันมามีสมาธิเรื่องการทำงานให้ลุล่วงกันมากขึ้น

ต้องทำตามคำสั่งตลอดเวลา

แม้คิดว่าไม่ได้รับความยุติธรรม สำหรับบางคนแล้วรู้สึกว่างานไม่มั่นคง แต่ก็ต้องทนรับคำสั่งอย่างต่อเนื่อง แต่ทุกอย่างมีทางเลือกเสมอนะ เพราะในชีวิตของคนเราก็ใช่ว่าจะมีแค่ทางเลือกเดียว ซึ่งการปฏิเสธใช่ว่าผลลัพธ์ออกมาจะแย่เสมอไป(นะ!) เพราะบางครั้งการพูดว่า “ไม่!” เป็นการปิดโอกาสให้กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าก็จริงอยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นก็ได้เช่นกัน ซึ่งอย่างน้อยคุณก็ได้ความเชื่อมั่นกับการได้ทำตามความรู้สึกของตัวเองไปแล้ว 

 เมื่อตัดสินใจปฏิเสธอย่างเด็ดขาดต้องพูดคำว่า “ไม่” โดยใช้ภาษาชัดเจนคำเดียวสั้นๆ ไม่เยิ่นเย้อ เป็นการแสดงโดยนัยอันชัดแจ้งว่า “เราแสดงความชัดเจนแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องปรึกษาหารือกันอีกต่อไป” โดยไม่ต้องพูดอะไรมากมายให้เสียเรื่อง แต่ควรแสดงด้วยท่าทีที่เป็นมิตร บ่งบอกถึงความมั่นใจในตัวเองเต็มร้อย ประกอบกับน้ำเสียงและคำพูดที่เด็ดขาด ชัดเจน ไม่เยิ่นเย้อ ก็แสดงว่าปัญหาสรุปไปแล้วไม่ต้องคะยั้นคะยอกันอีก

แต่ภาษากายเวลาปฏิเสธต้องสื่อเชิงบวก ความมั่นใจแสดงได้ด้วยสายตาอ่อนโยน ไม่จำเป็นต้องแข็งกร้าวและนี่คือกุญแจแห่งการปฏิเสธที่ได้ผลดี

ไม่รู้ว่าจะทำอะไรก่อนอะไรหลัง

งานเยอะมาก ทั้งที่สำคัญและไม่สำคัญ (แต่ก็ต้องทำ...ด่วน!!) เซ็งชีวิตมาก หมดเรี่ยวแรงทำงานมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวันก็ไม่เสร็จสิ้นเสียที แล้วก็ไม่รู้จะเริ่มทำอะไรก่อน แนะมีวิธีจัดการทำงานให้ได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผล จะต้องรู้จักการจัดลำดับความสำคัญของงานก่อนและหลัง คือ การกำหนดเป้าหมาย จะทำให้วิเคราะห์งานได้ง่ายขึ้นว่างานชิ้นไหนมีความสำคัญมากที่สุด และงานใดความสำคัญลำดับรองลงมา เป้าหมายสะสางงานแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ เป้าหมายสำคัญ เป้าหมายสนับสนุน และเป้าหมายเสริม

การจัดลำดับของงานนั้นต้องดู 2 อย่างประกอบกัน คือ ความสำคัญ และความเร่งด่วน งานที่มีทั้งความสำคัญและความเร่งด่วนจะต้องทำให้เสร็จก่อนเป็นลำดับแรก หลังจากนั้นเราจึงจัดลำดับของงานที่สำคัญ และงานที่เร่งด่วนไปพร้อมๆ กัน โดยดูทั้งปริมาณงานและเวลาที่มีอยู่พร้อมๆ กันไป ส่วนงานที่ยังไม่สำคัญและไม่เร่งด่วนนั้นก็ต้องทำสำรองไว้เช่นกันในภายหลังเมื่อมีเวลา ควรรีบทำ อย่าลืม! เพราะอาจกลับมาสะสมสร้างปัญหาเป็นดินพอกหางหมูได้ในภายหลัง “สิ่งไหนสำคัญต้องทำก่อน” งานทำให้เราบรรลุตามเป้าหมายได้ถือเป็นงานสำคัญที่สุด

     สาเหตุทั้งหมดนี้มักทำให้คนเราเหนื่อยล้ามาก ลองแก้ไขไปทีละเปลาะๆ การงานหนักหนาก็อาจบรรเทาเบาบางลงไปได้