Bangkok post> Jobs > Career guide

บริหารสไตล์เฟซบุ๊ก

  • Published: Feb 28, 2017 13:04
  • Writer: Post Today | 1 viewed

     สำนักงานใหญ่ของเฟซบุ๊กตั้งอยู่ในเมืองเมนโลพาร์ก รัฐแคลิฟอร์เนีย ทุกคนจะเรียกว่า “เฟซบุ๊กแคมปัส” ที่นี่เคยเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ บริษัท ซันไมโครซิสเต็มส์ ที่เคยยิ่งใหญ่มากในด้านระบบคอมพิวเตอร์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่ต่อมาไม่สามารถแข่งขันกับการพัฒนาของคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กส่วนบุคคลได้ จนต้องขายทั้งบริษัทและอาคารสำนักงานใหญ่ ซึ่งกลายมาเป็นสำนักงานใหญ่ของเฟซบุ๊กในปัจจุบัน

     เมื่อเข้ามาที่นี่ทุกคนจะสังเกตเห็นป้ายบริษัทเฟซบุ๊กที่กลับเอาด้านหลังของป้ายบริษัท ซันไมโครซิสเต็มส์ มาใช้เป็นด้านหน้าแทน เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนสติให้พนักงานทุกคนได้ตระหนักว่า หากไม่คิดสร้างสรรค์พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ก็จะต้องมีจุดจบอย่างบริษัท ซันไมโครซิสเต็มส์ และอีกหลายบริษัท เช่น โกดักและโนเกีย ที่เคยยิ่งใหญ่มาก่อนแต่ก็ต้องล้มไปในที่สุด

     ข้างในสำนักงานเฟซบุ๊กจะเป็นอาคารสองชั้นที่กว้างขวาง มีพื้นที่ส่วนกลางมากมายคล้ายกับเป็นโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยมากกว่าเป็นบริษัท มีทั้งโรงอาหารที่ให้ทุกคนกินฟรีอย่างเต็มที่ มีห้องออกกำลังกาย มีร้านซ่อมจักรยาน มีห้องเล่นเกมได้ทั้งวัน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นห้องกว้างๆ ให้ทุกคนได้มานั่งทำงานร่วมกันโดยไม่มีห้องส่วนตัวและมีห้องประชุมที่ทันสมัยจำนวนมาก รองรับพนักงานหลายพันชีวิตที่ทำงานทั้งวันทั้งคืนที่นี่

     มีคนหลากหลายเชื้อชาติทำงานที่เฟซบุ๊กและมีวิศวกรไทยอยู่ประมาณ 10 คน ซึ่งแต่ละปีจะมีคนมาสมัครนับหมื่น เฟซบุ๊กมีระบบการสัมภาษณ์ที่เข้มข้น โดยมุ่งเน้นหาคนรุ่นใหม่ที่มีความเก่งกาจทั้งทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ และมีความเป็นผู้นำสามารถทำงานเป็นทีมได้ดี

     เพราะที่นี่มีการจัดการองค์กรแบบแนวราบ คือ เน้นการทำงานเป็นหลายทีมแต่ละทีมมีผู้จัดการทีมทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง จากนั้นก็เป็นระดับผู้บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คือ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้ง จึงไม่ได้เป็นระบบที่มีเจ้านายหรือลำดับชั้นมากมายเหมือนบริษัทขนาดใหญ่อื่นๆ


     การบริหารงานตามแนวความคิดเปลี่ยนโลกของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก คือ การเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าธุรกิจในอนาคตจะอยู่ได้ด้วยคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ฉลาด และมีความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น และการที่จะทำให้คนเก่งเหล่านี้ทำงานร่วมกันได้ดี จะต้องสร้างระบบการบริหารแบบใหม่ที่คล่องตัว ยืดหยุ่น และมีความเป็นเพื่อนผู้ร่วมงานกันมากกว่าเป็นเจ้านายลูกน้องกัน

     แม้จะดูเหมือนว่าการได้ทำงานที่นี่จะสุดแสนวิเศษ แต่เมื่อได้พูดคุยกับวิศวกรไทยที่นี่ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำงานหนักและเครียดมาก เพราะทุกคนเก่งและต้องแข่งขันกันสร้างผลงาน ทุก 6 เดือนจะมีการประเมินที่เข้มข้นมาก โดยจะให้คนในทีมงานประเมินไขว้กันเอง ซึ่งจะวัดทั้งทักษะด้านเทคนิคและทักษะความเป็นผู้นำ

     จากนั้นก็จะถูกประเมินโดยผู้จัดการทีม โดยให้มีเส้นทางการเลื่อนขั้น 2 แบบ โดยแบบแรก หากมีทักษะทั้งผู้นำและเทคนิคก็จะเลื่อนขึ้นเป็นผู้จัดการทีม ไปจนถึงผู้บริหารระดับสูง และแบบที่สอง หากถนัดงานด้านเทคนิคมากๆ แต่ไม่ชอบการบริหาร ก็ยังได้ปรับระดับเป็นวิศวกร 1 ถึงวิศวกร 5 ที่เน้นความเชี่ยวชาญ ไม่เน้นไปเป็นผู้บริหาร

     การบริหารสไตล์เฟซบุ๊กจึงน่าสนใจ ให้หน่วยงานราชการและบริษัทเอกชนของไทยที่ยังอยากจะพัฒนาให้แข่งขันได้ เพราะวันนี้หากองค์กรใดไม่คิดปฏิรูป นอกจากจะเฉาไปเรื่อยๆ แล้ว ยังจะไม่สามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่ชั้นยอดเข้าร่วมเป็นทีมงานได้ อนาคตขององค์กรนั้นคงไปไม่ไกลแน่นอน