Bangkok post> Jobs > Career guide

การใช้อำนาจกับลูกน้อง

  • Published: Feb 23, 2017 14:14
  • Writer: Post Today | 1 viewed


     หัวหน้าที่โดนขุดคุ้ย ถูกเมาท์มอยจากลูกน้อง ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นหัวหน้าประเภทบ้าอำนาจเหวี่ยงวีน โวยวาย หรือคนจำพวกที่ชอบเหยียบคนอื่น แล้วอย่าไปดูถูกความสามารถในการสืบประวัติของเด็กสมัยนี้ อย่าดูถูกความสามารถของปากคน อย่าดูถูกความสามารถของอินเทอร์เน็ต และ Social Network เชียว เพราะเครื่องมือพวกนี้จะสามารถอัพเลเวลลูกน้องธรรมดาเป็นร่างอวตารของเชอร์ล็อก หรือโคนันเลยทีเดียว

     ที่สำคัญยิ่งเกลียดมากยิ่งขุดคุ้ย ยิ่งไปทำร้ายคนอื่นมากยิ่งขุดคุ้ยกันเป็นขบวนการ แล้วพอปากต่อปากบวกการใส่สีตีไข่เข้าไป ก็ไม่ต้องคิดถึงผลกันเลยทีเดียว ออฟฟิศไทยไวกว่า 4จี ที่จะบอกคือไม่ได้ให้กลัวลูกน้อง หรือกลัวการถูกขุดคุ้ย เพราะจริงๆ เราไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ไม่มีอะไรน่ากลัว แต่ต้องการเล่าให้ฟังถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการเกลียดชังของลูกน้องที่มีต่อหัวหน้า

     เอาจริงๆ เราอยากให้หัวหน้าประพฤติปฏิบัติตัวอย่างไรกับเรา ก็เช่นเดียวกันเราก็ควรทำแบบนั้นกับลูกน้องแค่นึกถึงใจเขาและใจเราก็จะทำให้เราสามารถปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสม เพราะในขณะที่เราเป็นหัวหน้าเราเองก็เห็นลูกน้องเจ้านาย หรือเจ้าของธุรกิจเช่นกัน เราไม่ชอบเจ้านายที่ทำตัวไม่ดีอย่างไร เราก็ไม่ควรทำตัวแบบนั้นกับลูกน้องของเราเอง ซึ่งบางคนก็คิดได้ บางคนก็คิดไม่ได้ อย่างน้อยอาจจะลองคิดแบบ What if scenario ทั้งเรื่องการขุดคุ้ย หรือแม้แต่ในวันหนึ่งลูกน้องผู้ถูกกระทำได้กลับเข้ามาเป็นหัวหน้า หรือกลายไปเป็นลูกค้าที่ต้องทำงานด้วยจะเกิดอะไรขึ้น

     การศึกษาพฤติกรรมองค์กรในยุคใหม่ เช่น ทฤษฎีของ Chester Barnard ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลกับศึกษาพฤติกรรมองค์กรในปัจจุบัน กล่าวว่า ในองค์กร อำนาจ คือ ลักษณะหนึ่งของการสื่อสารที่ได้รับการยอมรับจากสมาชิกในทีมหรือในองค์กร ในการควบคุมดูแล เป็นความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าและลูกน้อง ไม่ใช่ตำแหน่ง ไม่ใช่การสั่งการและคำสั่งจากผู้มีอำนาจ

     อำนาจหน้าที่จะสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิผลเมื่อลูกน้องเข้าใจคำสั่งนั้นเป็นอย่างดี ลูกน้องเห็นว่าคำสั่งนั้นส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายขององค์กร คำสั่งนั้นมีความสัมพันธ์กับความสนใจส่วนตัวของลูกน้อง และลูกน้องมีความสามารถเพียงพอในการที่จะดำเนินการตามคำสั่งนั้นให้สำเร็จ โดยหนึ่งในวิธีที่หัวหน้าจะสามารถสร้างการยอมรับจากลูกน้องได้อย่างไม่มีข้อแม้ คือการสร้างแรงจูงใจ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแรงจูงใจ หรือโน้มน้าวชักจูง

     จะเห็นได้ว่าทฤษฎีองค์การสมัยใหม่ไม่ได้กล่าวถึงการใช้กำลัง บังคับ คู่เข็ญ หรือการแสดงออกของการใช้อำนาจในเชิงลบเลย 

     ดังนั้นหัวหน้าเองควรจะเรียนรู้และปรับตัวเอง อย่างน้อยหากไม่สนใจผลกระทบแย่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้อารมณ์กับลูกน้อง ไม่คิดถึงใจเขาใจเราแล้ว ก็ลองคิดลองทำตามทฤษฎีองค์การที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจ หรือคำสั่งที่ประสบความสำเร็จดูบ้าง