Bangkok post> Jobs > Career guide

มองโลกแง่ลบ ลดคุณค่าชีวิต

  • Published: Jan 6, 2017 16:22
  • Writer: Post Today | 1 viewed

 

     การที่คนอื่นจะมองตัวเราเป็นคนอย่างไรนั้น ส่วนหนึ่งมาจากสิ่งที่แสดงบุคลิกภาพและการเข้าสังคมของเราก็คือสิ่งที่ออกมาจากความคิด การมองโลกและทัศนคติต่อสิ่งต่างๆ ที่เป็นตัวกำหนดให้เราแสดงอากัปกิริยาภายนอก ดังนั้นปัญหาบุคลิกภาพหรือการเข้าสังคมอาจไม่ได้เกิดมาจากปัญหาทางร่างกายหรือการแต่งตัว แต่มาจากการมองโลกในแง่ลบของตัวเอง แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเรานั้นเป็นคนที่ชอบมองโลกในแง่ลบ แล้วเราจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร

วิธีการดูว่าเราเป็นคนที่มองโลกในแง่ลบหรือเปล่านั้นมีวิธีการง่ายๆ เพราะการมองโลกในแง่ลบนั้นมักเป็นคนที่มีแนวโน้มที่จะคิด 3 เรื่องหลักๆ ดังต่อไปนี้

1. เหยียดผิว รูปร่าง ศาสนา และเชื้อชาติ คนที่มองโลกในแง่ลบมักจะตีความจากสิ่งที่เห็นภายนอก หากเป็นสิ่งตรงข้ามกับตัวเองมักจะคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จักเก็บอารมณ์ก็มักจะแสดงอาการทางหน้าตาและคำพูดออกมาอย่างชัดเจน

2. ตั้งแง่กับทุกสิ่งที่พบ และเสนอความคิดในทุกเรื่อง เช่น เห็นคนกินข้าว 2 จานก็มักจะคิดว่า “มิน่าล่ะ กินแบบนี้ถึงได้อ้วน” ทั้งๆ ที่ตัวคนคิดเองก็ไม่ได้มีรูปร่างที่ดีอะไรมากมาย

3. วิตกกังวลเกินเหตุ คนมองโลกในแง่ลบมักจะกลัวไปทุกอย่าง แม้กระทั่งการเข้าห้องน้ำก็กลัวถูกแอบถ่าย เติมน้ำมันก็กลัวปั๊มโกงมิเตอร์ ขึ้นแท็กซี่ก็กลัวถูกโกง ไปเที่ยวก็กลัวจะประสบอุบัติเหตุระหว่างทาง ซึ่งที่จริงแล้วความกลัวความวิตกกังวลเป็นเรื่องดีที่ช่วยให้เราระมัดระวังตัว และหาทางป้องกัน แต่คนมองโลกในแง่ร้ายจะกลัวจนไม่กล้าลงมือทำหรือแม้กระทั่งคิดหาทางป้องกัน

     สาเหตุที่ทำให้คนเรามองโลกในแง่ร้ายนั้นมีอยู่หลายสาเหตุ ประการแรกคือมีประสบการณ์ไม่ดีต่อเรื่องนั้นๆ เช่น เด็กๆ มักถูกเพื่อนที่มีลักษณะเด่นอย่างเช่น ผิวดำ ผมหยิก นับถือต่างศาสนา ฐานะร่ำรวย หรือยากจนกว่า รังแกอยู่บ่อยๆ ทำให้แสดงอาการเกลียดคนที่มีลักษณะบางอย่างด้วยความคิดแบบเหมารวม

     อีกประการหนึ่งคือการเสพสื่อมากเกินไปทั้งข่าวและละครที่มีความรุนแรง เพราะข่าวสารและละครต่างๆ ทุกวันนี้มุ่งตีแผ่ถึงปัญหาสังคมมากเกินไปจนละเลยนำเสนอส่วนที่ดี เพราะคิดว่าเป็นข่าวคนไม่ให้ความสนใจ ละครไทยก็มักเน้นเรื่องราวตบตีแย่งชิง นักแสดงเข้าถึงอารมณ์ตัวละครและแสดงออกมาได้ทรงพลังกระชากอารมณ์คนดู แต่หากเราลองปิดเสียงละครแล้วดูแค่ภาพเราจะรู้สึกได้เลยว่าการแสดงนั้นดูคล้ายคนที่มีอาการทางประสาทไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้กลายๆ สื่อที่นำเสนอความรุนแรงซ้ำซากเหล่านี้ทำให้คนเสพมีแนวโน้มที่จะมองคนในแง่ร้ายได้ง่ายขึ้น

     การแก้ไขปัญหาการเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายนั้น จำเป็นต้องใช้เวลาและการฝึกตัวเอง ไม่ต้องถึงขนาดพยายามมองโลกให้สวยงาม แค่ให้ลดลงจนเหมือนคนปกติก็นับว่าดีมากแล้ว โดยเริ่มจากปลูกฝังความคิดสั้นๆ ไปว่า “ช่างมันเถอะ” เราไม่จำเป็นต้องใส่ใจในทุกสิ่งรอบตัว บางอย่างมาเพียงแป๊บเดียวแล้วก็ผ่านไป เช่น มีคนขับรถปาดหน้า มีคนเดินชน มีคนทำของหลุดมือมาโดนเรา หรือคนรู้จักพูดไม่ดีกับเรา คำว่า “ช่างมันเถอะ” คือประตูที่ช่วยปิดกั้นความคิดในแง่ลบที่จะตามมาได้เป็นอย่างดี เป็นการปล่อยวางอย่างง่ายที่สุด

     เปลี่ยนจากคำถามที่มีต่อคนอื่นว่า “ทำไมไม่ทำอย่างนั้น” เป็น “ทำไมถึงทำแบบนั้น” เปลี่ยนประโยคคำถามเพียงเล็กน้อย แต่เปลี่ยนความคิดเราได้มหาศาล เพราะจากแนวคิดที่เราไปคิดแทนคนอื่นโดยใช้ตัวเราเป็นบรรทัดฐาน มาเป็นความคิดถึงสาเหตุว่าทำไมเขาถึงทำแบบนั้น ไม่เพียงแต่จะช่วยให้เรามองโลกในแง่ดี แต่ยังทำให้เรามีความเข้าอกเข้าใจคนรอบข้างได้ดีขึ้นอีกด้วย