ชอล์กไร้ฝุ่นจากกลุ่มคนพิเศษ
- Published: Dec 30, 2016 15:36
- Writer: นสพ. M2F ฉบับวันที่ 27 ธันวาคม 2559 | 1 viewed
บริษัท นิฮง ริกะงะกุ อินดัสทรี เป็นบริษัทผลิตชอล์กเล็กๆ แห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในวงการนั้นบริษัทแห่งนี้ถือเป็นผู้ผลิตชอล์กไร้ฝุ่นเจ้าแรกของประเทศ แต่สิ่งที่นิฮง ริกะงะกุ ต่างจากบริษัทอื่น คือที่นี่ความพิการจะถูกเปลี่ยนเป็นความสามารถ พนักงานผลิตชอล์กส่วนใหญ่ในบริษัทเป็นผู้พิการทางสติปัญญา
นิฮง ริกะงะกุ อินดัสทรี ก่อตั้งเมื่อปี 1937 สืบทอดกิจการต่อกันมาถึง 4 รุ่น ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารของ ยะสุฮิโระ โอยะมะ ขึ้นชื่อลือชาด้านการผลิตชอล์กไร้ฝุ่นเป็นรายแรกของญี่ปุ่น ด้วยการนำเปลือกหอยเชลล์มาแปรรูปเป็นฝุ่นชอล์ก
ที่มาของการให้โอกาสผู้พิการทางสติปัญญาในโรงงานผลิตชอล์กแห่งนี้เริ่มต้นเมื่อ 57 ปีที่แล้ว หลังจากโรงเรียนเพื่อผู้พิการทางสติปัญญาพานักเรียนมาเยี่ยมชมโรงงาน เมื่อครูของเด็กๆ ขอให้บริษัทรับเด็กนักเรียนหญิงวัย 15 ปี 2 คนได้ลองทำงานที่นี่ เนื่องจากพวกเธอสองคนจะถูกส่งไปอยู่สถานสงเคราะห์ของรัฐหากไม่สามารถหางานทำได้ก่อนจบการศึกษาจากโรงเรียน แต่กลับถูกปฏิเสธไปถึงสองครั้งสองคราฟ
ในที่สุดความพยายามครั้งที่ 3 ก็โน้มน้าวใจ โอยะมะ ได้สำเร็จ เด็กหญิงทั้งสองคนได้ทดลองฝึกงานในโรงงานชอล์กไร้ฝุ่นอันดับหนึ่งของประเทศเป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยรับหน้าที่ติดป้ายสินค้า ปรากฏว่าเด็กทั้งสองคนทำงานอย่างขยันขันแข็งจนเป็นตัวอย่างและเป็นที่รักของพนักงานคนอื่นๆ ในท้ายที่สุดพวกเธอก็ได้เป็นพนักงานประจำของนิฮง ริกะงะกุ อินดัสทรี
แต่หลังจากที่ตกลงรับเด็กหญิงทั้งสองคนเข้าทำงานแล้ว โอยะมะ ก็ยังไม่แน่ใจนักว่าเขาตัดสินใจถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากคิดว่าพนักงานใหม่ทั้งสองคนน่าจะมีความสุขที่ได้อยู่ในศูนย์ดูแลผู้พิการทางสติปัญญามากกว่าต้องออกมาทำงานข้างนอก เมื่อมีโอกาสได้สนทนาธรรมกับพระนักบวชเซนรูปหนึ่งถึงเรื่องที่เขายังคิดไม่ตกนี้ พระรูปนั้นได้แนะนำว่า “ความสุขของมนุษย์มาจาก 4 เรื่อง คือได้รับความรัก ได้รับคำชื่นชม ได้ทำประโยชน์ให้ผู้อื่น และการได้รับรู้ว่าตัวเรามีความสำคัญ 3 อย่างสุดท้ายหาได้จากการทำงานไม่ใช่ในศูนย์ดูแล”
คำเทศนาดังกล่าวทำให้ โอยะมะ เข้าใจและรับผู้พิการทางสติปัญญาเข้าทำงานกับบริษัทมากขึ้น โดยในช่วงแรกๆ นั้นต้องบริหารจัดการทุกอย่างเองหมด เนื่องจากทางการยังไม่มีนโยบายสนับสนุนบริษัทที่มีพนักงานเป็นบุคคลพิเศษ โอยะมะ แก้ปัญหานี้ด้วยการใช้สีช่วยให้พนักงานพิเศษเข้าใจกระบวนการทำงาน
ในช่วงทดลอง โอยะมะ มอบหมายให้พนักงานพิเศษชั่งตวงวัดปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ผลิตแท่งชอล์ก และด้วยการใช้ตัวช่วยเป็นสีในการจำแนกงาน พนักงานกลุ่มนี้สามารถทำงานได้อย่างไร้ที่ติ ซึ่ง โอยะมะ สรุปว่า หากบริษัทสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานให้คนกลุ่มพิเศษ พวกเขาก็จะดึงศักยภาพในตัวมาใช้ได้อย่างเต็มที่เทียบเท่าพนักงานปกติ
ปัจจุบัน นิฮง ริกะงะกุ อินดัสทรี มีพนักงานพิเศษ 57 คน จากพนักงานทั้งหมด 76 คน
อย่างไรก็ดี โอยะมะ ไม่ได้เรียกร้องให้บริษัทอื่นทำตามบริษัทของเขา เนื่องจาก “บริษัทเราเป็นบริษัทเล็กๆ เราทำได้อย่างที่เราทำ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธรรมชาติของการผลิตชอล์ก บริษัททั่วไปอาจจะทำได้ยากกว่าบริษัทเรา ดังนั้นผมจึงไม่ขอเรียกร้องให้บริษัทอื่นทำตามแบบบริษัทเรา”
แต่อย่างน้อยที่สุด นิฮง ริกะงะกุ อินดัสทรี ก็ได้หยิบยื่นโอกาสให้กับผู้พิการทางสติปัญญาได้ภาคภูมิใจในศักยภาพในการหาเลี้ยงชีพของตัวเอง