Bangkok post> Jobs > Career guide

โรคเอ็มเอส ภัยเงียบวัยทำงาน

 

     หากคุณตื่นมาในเช้าวันใหม่แล้วพบว่าคุณเดินไม่ได้ หรือไม่สามารถมองเห็นแล้ว คุณคงจะรู้สึกตกใจและเสียขวัญไม่ใช่น้อย อาการเหล่านี้อาจเป็นหนึ่งในอาการของโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือโรคเอ็มเอส (Multiple Sclerosis) หนึ่งในโรคหายากที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวในระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ทำให้ปลอกหุ้มประสาทอักเสบถูกทำลาย จนก่อให้เกิดอาการผิดปกติทางเส้นประสาทที่ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ อาทิ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชาที่ร่างกาย เวียนหัว ซึมเศร้า เป็นต้น ซึ่ง 70% ของผู้ป่วยโรคเอ็มเอสมักเกิดขึ้นในวัยทำงาน จึงส่งผลต่อสมาชิกในครอบครัวที่ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบเลี้ยงดู

     รศ.พญ.นาราพร ประยูรวิวัฒน์ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเอ็มเอส ว่า ผู้ป่วยเอ็มเอสมีอาการหลากหลายรูปแบบ โดยจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของระบบประสาทส่วนกลางที่เกิดการอักเสบทำลาย หรือเกิดรอยโรคขึ้น เช่น หากมีความผิดปกติที่ตำแหน่งของเส้นประสาทตาก็จะทำให้มีอาการตามัว หรือหากเกิดที่ส่วนสมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัว ก็จะทำให้การทรงตัวของร่างกายผิดปกติ อาจมีอาการแขนขาอ่อนแรง หรือไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะ เป็นต้น ด้วยอาการที่ไม่จำเพาะเจาะจงและยังมีอาการคล้ายโรคอื่นๆ จึงทำให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคเอ็มเอสค่อนข้างยากและล่าช้า

     ด้าน พญ.สสิธร ศิริโท แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเอ็มเอส รพ.ศิริราช กล่าวถึงสถิติโดยทั่วไปของโรคเอ็มเอสว่า ถึงแม้ว่าประเทศไทยยังไม่มีการสำรวจอุบัติการณ์ของโรค แต่ประมาณการว่า น่าจะพบผู้ป่วยโรคเอ็มเอสประมาณ 1-2 คนต่อประชาการ 100,000 คน โดยมักจะเริ่มแสดงอาการในช่วงอายุประมาณ 20-50 ปี และพบสัดส่วนของผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ประมาณ 1.5-2 เท่า ปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่แน่ชัดของโรคได้ แต่เชื่อว่ามาจากหลายสาเหตุร่วมกัน คือพันธุกรรม ร่วมกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น เคยมีการติดเชื้อไวรัสบางชนิดมาก่อน มีภาวะขาดวิตามินดี และสูบบุหรี่

      การรักษาในปัจจุบันยังไม่สามารถทำให้หายขาดได้ เพียงแค่ลดความรุนแรงและการกำเริบของโรค รวมถึงการป้องกันเกิดภาวะทุพพลภาพ หรือการรักษาอาการต่างๆ ที่เกิดจากการฟื้นฟูที่ไม่สมบูรณ์ ที่ทำได้แค่ให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีจนสามารถอยู่กับโรคเอ็มเอสได้อย่างมีความสุขในระยะยาว