การคุกคามทางเพศในที่ทำงาน
- Published: Dec 21, 2016 17:31
- Writer: Post Today | 1 viewed
ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ผู้หญิงก้าวขึ้นมามีบทบาทในด้านต่างๆ อย่างมาก โดยเฉพาะในโลกธุรกิจ เช่น อินทิรา นูยี ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เป๊ปซี่โค เวอร์จิเนีย โรเม็ตตี ประธานกรรมการบริษัท ไอบีเอ็ม หรือแมรี บาร์รา ประธานกรรมการบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส คือยุคที่ผู้หญิงได้พบกับความท้าทายในอาชีพการงาน แต่ขณะเดียวกันพวกเธอก็ตกเป็นเป้าหมายของการคุกคามทางเพศ (Sexual Harrassment) ในที่ทำงานด้วย
ประเด็นเรื่องการคุกคามทางเพศ เป็นหนึ่งในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นวาระร้อนแรงขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วโลก แม้แต่ในประเทศไทยเอง สาวๆ (รวมทั้งหนุ่มๆ) หลายคนยังมีความเชื่อที่ผิดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ จะทำอย่างไรเพื่อให้พวกเขาและเธอได้ตระหนักถึงสิทธิของตัวเอง รวมทั้งทุกฝ่ายที่ควรมีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างเสมอเหมือนกัน บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งที่อยากจะชี้ให้เห็นและบอกกล่าวพวกเขาและเธอได้รู้ว่า จะต้องทำอย่างไรเมื่อถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน
การคุกคามทางเพศ คือพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนา ซึ่งรวมถึงการเข้าหา การขอความช่วยเหลือ และความประพฤติทางกายและวาจาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศ หรืออีกนัยหนึ่ง ถ้าใครก็ตามยังคงทำพฤติกรรมที่สามารถตีความไปในทางเพศได้ แม้จะได้รับการห้ามปรามแล้วก็ตาม การกระทำของบุคคลนั้นย่อมถือเป็นการคุกคามทางเพศ
ผลกระทบจากการคุกคามทางเพศนั้นกว้างไกลและลึกซึ้ง โดยเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสภาพจิตใจของผู้ถูกคุกคาม ซึ่งนำไปสู่ประสิทธิภาพการทำงานที่ต่ำลงของทั้งผู้ถูกคุกคามและเพื่อนร่วมงาน บั่นทอนขวัญกำลังใจของทีม
ต่อไปนี้คือความเชื่อและความจริงเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ ที่อาจทำให้คุณเข้าใจภาวะการคุกคามในเรื่องนี้ได้ดียิ่งขึ้น
1. ภาวะการคุกคามเกิดขึ้นกับผู้หญิงเท่านั้น
ไม่จริง แม้ว่าการคุกคามทางเพศส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้หญิง แต่รายงานของคณะกรรมการโอกาสการจ้างอย่างเท่าเทียมของสหรัฐอเมริกา (The U.S.Equal
Employment Opportunity Commis
sion-EEOC) ระบุว่า โดยเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 15% ของการคุกคามทางเพศนั้นเกิดขึ้นกับผู้ชาย
2. ผู้คนให้ความสำคัญกับเรื่องการคุกคามทางเพศมากเกินไป กรณีที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นเพียงการจีบหรือหยอกล้อกันเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
ไม่จริง จากผลการศึกษาหลายแห่งชี้ว่า การคุกคามส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องการจีบหรือแสดงความเป็นมิตร หรือเป็นเรื่องขำขัน ผู้ถูกคุกคามทางเพศอาจรู้สึกอับอายและหดหู่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผลงานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศมักถูกกดดันให้ออกจากงานเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา ซึ่งนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพและจิตใจอย่างรุนแรง
3. ผู้ถูกคุกคามทางเพศเป็นเหตุให้เกิดการคุกคามทางเพศเอง เพราะพฤติกรรมยั่วยวนหรือการแต่งกายที่ล่อแหลมของพวกเขาเอง
ไม่จริง รายงานการวิจัยไม่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมและการแต่งกายของผู้ถูกคุกคามกับเหตุการณ์การคุกคามทางเพศ ตราบใดที่พนักงานมีพฤติกรรมและแต่งกายอย่างเหมาะสมสำหรับงานของพวกเขา ไม่มีใครมีสิทธิที่จะละเมิดพวกเขาได้
4. กรณีการคุกคามทางเพศส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่แต่งขึ้น เพื่อแก้แค้นบุคคลที่ตนเคยมีความขัดแย้งด้วย
ไม่จริง จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยโอเรกอน ระบุว่า น้อยกว่า 1% ของคำร้องเรียนเป็นเท็จ ในทางตรงกันข้ามผู้ถูกคุกคามมักไม่กล้ารายงานการคุกคามที่เกิดขึ้นแม้พวกเขาจะมีสิทธิก็ตาม
5. ถ้าคุณถูกคุกคามทางเพศ ไม่ควรตอบโต้ เพราะการกระทำเช่นนี้จะค่อยๆ หายไปเอง
ไม่จริง วิธีนี้เป็นวิธีที่ไม่ได้ผล ที่น่าเศร้าคือ เป็นวิธีที่หลายคนมักจะทำกัน งานวิจัยชี้ว่าไม่เพียงการนิ่งเฉยจะไม่ส่งผลให้การคุกคามหยุดแล้ว ยังอาจจะกระตุ้นให้เหตุการณ์เลวร้ายลงไปอีก
ทำอย่างไรเมื่อถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน
1. สื่อสารอย่างชัดเจนว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ซึ่งสามารถทำได้ในหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นการให้สัญญาณทางอ้อม การปฏิเสธการเข้าหาอย่างตรงไปตรงมา หรือบอกอีกฝ่ายว่าคุณจะรายงานพฤติกรรมของเขาต่อเจ้านายหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบทราบ
2. ขีดเส้นใต้หรือย้ำให้ชัดเจนว่าพฤติกรรมเช่นใดที่คุณยอมรับได้ พฤติกรรมเช่นใดที่คุณยอมรับไม่ได้ ขจัดความเคลือบแคลงหรือความไม่ชัดเจน
3. หากการคุกคามยังดำเนินอยู่ คุณควรไปปรึกษากับหัวหน้างาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือคณะกรรมการผู้ตรวจสอบ หรือรายงานการคุกคามนั้นต่อหัวหน้าส่วนโดยตรงกรณีที่ผู้คุกคามเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเอง