พระมหากษัตริย์นักการศึกษา
- Published: Nov 8, 2016 17:41
- Writer: นสพ. M2F ฉบับวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 | 1 viewed
พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงสอนหนังสือให้กับนักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวล ยังประทับอยู่ในใจเหล่าพสกนิกรไม่รู้ลืม เพราะพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาและทรงเป็นครูที่พร้อมถ่ายทอดอย่างไม่ถือพระองค์ เพื่อให้เหล่านักเรียนที่เป็นลูกศิษย์นั้นได้รับวิทยาการความรู้เพื่อนำไปใช้เป็นประโยชน์กับตัวและประเทศชาติต่อไป
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราโชบายส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาทุกระดับทุกประเภท ได้แก่ การจัดการศึกษาในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน การศึกษาพิเศษ การศึกษาสงเคราะห์ การพัฒนาทรัพยากรบุคคล การพัฒนาวิชาการและวิจัย และการพระราชทานทุนการศึกษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดล ให้เป็นทุนสำหรับการศึกษาในแขนงวิชาต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาได้มีทุนออกไปศึกษาหาความรู้ต่อในวิชาการชั้นสูงในประเทศต่างๆ โดยไม่มีเงื่อนไขข้อผูกพันแต่ประการใด เพื่อที่จะได้นำความรู้นั้นๆ กลับมาใช้พัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป เป็นต้น พระราชกรณียกิจทางด้านการศึกษาเป็นที่ประจักษ์ในพระปรีชาสามารถ พระบรมราโชบายอันล้ำลึก และสายพระเนตรอันกว้างไกลในการให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน
นอกเหนือจากนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชประสงค์ให้ดำเนินการจัดทำสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนขึ้น โดยมีพระราชดำริว่า หนังสือประเภทสารานุกรมนั้นบรรจุสรรพวิชาการอันเป็นสาระไว้ครบทุกแขนง เมื่อมีความต้องการหรือพอใจจะเรียนรู้เรื่องใด ก็สามารถค้นหาอ่านโดยสะดวก เป็นหนังสือที่มีประโยชน์ เกื้อกูลการศึกษา เพิ่มพูนปัญญาได้ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะในยามที่มีปัญหาการขาดแคลนครูและที่เล่าเรียน หนังสือสารานุกรมจะช่วยคลี่คลายให้บรรเทาเบาบางลงได้เป็นอย่างดี
พระองค์ทรงกำหนดหลักการทำคำอธิบายเรื่องต่างๆ แต่ละเรื่อง เป็น 3 ตอน หรือ 3 ระดับ สำหรับให้เด็กรุ่นเล็กอ่านเข้าใจระดับหนึ่ง สำหรับเด็กรุ่นกลางอ่านเข้าใจได้ระดับหนึ่ง และสำหรับเด็กรุ่นใหญ่ รวมถึงผู้ใหญ่ผู้สนใจอ่านได้อีกระดับหนึ่ง เพื่ออำนวยโอกาสให้บิดามารดาสามารถใช้หนังสือนั้น เป็นเครื่องมือแนะนำวิชาแก่บุตรธิดา และให้พี่แนะนำวิชาแก่น้องเป็นลำดับกันลงไป นอกจากนั้น เมื่อเรื่องหนึ่งเรื่องใดมีความเกี่ยวพันต่อเนื่องถึงเรื่องอื่นๆ ก็ให้อ้างอิงถึงเรื่องนั้นๆ ด้วยทุกเรื่องไป ด้วยมีพระราชประสงค์ให้ผู้ศึกษาตระหนักว่า วิชาการแต่ละสาขา มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องถึงกัน พึงจะศึกษาให้ครบถ้วนทั่วถึง
สำหรับโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงปรารภ ตั้งแต่ พ.ศ.2506 แต่ยังมิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน จนกระทั่ง พ.ศ. 2511 จึงมีคณะกรรมการเข้าเฝ้าฯ ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นครั้งแรก ต่อมา พ.ศ.2512 จึงมีการพิจารณาเรื่องการทำสารานุกรมไทยฯ เล่มตัวอย่างขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ ส่วนเรื่องทุนในการจัดทำหนังสือ คณะไลออนส์แห่งประเทศไทยได้ให้ความร่วมมือจัดหาทุน
เมื่อเริ่มดำเนินงานใน พ.ศ. 2512 ได้เชิญคณาจารย์และผู้รู้ในสาขาวิชาต่างๆ 7 สาขาวิชาคือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ คณิตศาสตร์ และแพทยศาสตร์ มาเป็นกรรมการประสานงาน เพื่อจัดทำสารานุกรมไทยฯ โดยมีการร่วมมือจากวิทยากรในสาขาวิชานั้นๆ ตลอดจนกรรมการฝ่ายต่างๆ อีกมากมาย เช่น ฝ่ายศิลป์ ฝ่ายภาษา ฝ่ายการพิมพ์ เป็นต้น จนกระทั่งสารานุกรมไทยฯ เล่มที่ 1 ได้จัดพิมพ์แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2516 ซึ่งจนถึงขณะนี้ได้ผลิตหนังสือสารานุกรมไทยฯ ออกมาแล้วเป็นจำนวน 24 เล่ม และกำลังจัดทำเล่มที่ 25 และเล่มต่อๆ ไป