Talent ทิ้งองค์กร
- Published: Jul 29, 2016 17:34
- Writer: Post Today | 1 viewed
ท่ามกลางการแข่งขันรุนแรง ผู้บริหารองค์กรต้องหมั่นสังเกตว่า พนักงานที่ลาออกจากองค์กรในแต่ละเดือนมีมากเท่าไร โดยเฉพาะคนที่มีผลการประเมินดีมากและศักยภาพสูงออกไปหรือไม่ ถ้ามีพนักงานที่เข้าข่ายดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ แสดงว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับองค์กรแล้ว และต้องหาทางแก้ไขด่วน โดยส่วนใหญ่คนเก่งเดินออกจากองค์กรที่ทำงานมานานมีสาเหตุใหญ่ๆ คือ
1. พนักงานไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการจ่ายค่าตอบแทนกับผลการปฏิบัติงาน พนักงานที่เป็น Talent ในแต่ละองค์กรมีไม่มาก และเขาเหล่านั้นคาดหวังอยู่แล้วว่าต้องเหนือกว่าคนอื่น ถ้าองค์กรยังไม่เห็นความสำคัญก็จะเป็นการกระตุ้นให้พนักงานมองหาองค์กรอื่น เช่น บริษัท A มีโบนัสปลายปีเฉลี่ย 4 เดือน บริษัทประเมินให้โบนัสพนักงานที่เป็น Talent 5 เดือน แต่บริษัทก็ประเมินพนักงานบางคนที่มีผลการประเมินไม่ดีได้โบนัส 4 เดือนครึ่ง ลองคิดดูว่าถ้าเป็นตัวท่านจะทำงานในองค์กรลักษณะนี้หรือไม่ ทุกคนจะตอบเป็นเสียงเดียวกันเลยว่าไม่อยู่ เพราะไม่เห็นความแตกต่างในสิ่งที่เขาทำดีมาทั้งปี หรือไม่พนักงานกลุ่มนี้ก็จะลดบทบาทการเป็น Talent ลงมาปฏิบัติตัวแบบพนักงานอีกกลุ่มที่ยกตัวอย่างให้เห็น
2. คิดว่างานไม่มีความสำคัญ ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นงานที่มีคุณค่า พนักงาน Talent คาดหวังไว้สูงว่างานที่เขาทำต้องได้รับการยอมรับจากผู้บริหารองค์กร แต่หากได้รับมอบหมายให้ทำงานที่ไม่มีคุณค่า ไม่ใช่งานที่ทำผลกำไรให้องค์กร เปรียบเสมือนการปิดทองหลังพระอยู่ตลอด ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเก่งเบื่อและเดินออกจากองค์กรไป
3. ไม่ได้รับโอกาสให้ใช้ความสามารถที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ผู้บริหารมอบหมายให้พนักงาน Talent ทำงานที่พนักงานไม่มีความรู้และไม่ถนัด โดยไม่อธิบายเหตุผล ซึ่งจะจุดประกายให้พนักงานรู้สึกไม่ดี คิดว่าบริษัทกลั่นแกล้ง เพื่อไม่ให้ตัวเองอยู่กับองค์กรต่อไป จึงตัดสินใจลาออก ดังนั้น การมอบหมายงานจะต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าตั้งใจให้เขาไปแก้ปัญหา โดยอาศัยจุดแข็งที่เขามี
4. ไม่ได้รับความก้าวหน้า หรือไม่ได้รับมอบหมายงานตามที่คาดหวัง องค์กรที่พิจารณาพนักงานที่เป็น Talent ซึ่งเป็นพนักงานที่จบการศึกษามาจากที่เดียวกันและรุ่นเดียวกัน ต้องให้ความสำคัญและใส่ใจเรื่องนี้มากกว่าเดิม เพราะพนักงานมองว่าบริษัทไม่ได้ให้ความสำคัญและดูแลความก้าวหน้าเหมือนกับเพื่อนที่จบมาด้วยกัน ดังนั้น ผู้บริหารต้องมี
ข้อมูลผลการประเมินการปฏิบัติงาน ศักยภาพ ของพนักงานที่เป็น Talent แต่ละคน เพื่อจะได้ชี้แจงพนักงานที่มีทักษะรองลงมาว่าเขายังขาดส่วนไหน และควรจะเสริมทักษะด้านใดบ้าง
5. ไม่สามารถทนอยู่กับหัวหน้าหรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีในการทำงาน สิ่งนี้เกิดขึ้นกับพนักงานที่มีช่องว่างระหว่างวัยค่อนข้างมาก Talent รุ่นใหม่ Gen Y เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี เพราะว่าไม่สามารถทนสภาพการทำงานระบบเก่า ทำให้พนักงานเบื่อหน่ายและออกจากองค์กร
สำหรับการแก้ปัญหา Talent ทิ้งองค์กรนั้น ผู้บริหารจะต้องเข้าใจกระบวนการสร้างพนักงานที่เป็น Talent คร่าวๆ ดังต่อไปนี้
1. Align ผู้บริหารองค์กรต้องมีความเข้าใจพนักงานของตัวเอง ตั้งแต่เริ่มแรกก่อนว่า พนักงานที่จะถูกคัดเลือกมาเป็น Talent ขององค์กรมีอุปนิสัย ทักษะ ที่สามารถเข้ากับกลยุทธ์และวัฒนธรรมขององค์กรได้หรือไม่ หรือสามารถรับนโยบายการบริหารองค์กรได้ดีเพียงใด ซึ่งจะเป็นจุดแรกเริ่มที่ Talent ต้องซึมซับและยอมรับการบริหารองค์กรได้ตั้งแต่เริ่มแรก โดยอาจจะมองถึงทัศนคติ การยอมรับ และมุมมองต่อผู้บริหารองค์กร
2. Engage เมื่อผู้บริหารได้คัดเลือกกลุ่มพนักงานเรียบร้อยแล้ว ก็มาสู่ขั้นตอนของการ Identify ว่าพนักงานกลุ่มดังกล่าวใช้ความพยายามที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ในส่วนที่สองนี้อาจจะมองถึงวิธีการทำงาน ความตั้งใจ ความพยายาม และความมานะอดทน ในการทุ่มเทให้กับงานที่พนักงานได้ทำ ว่าได้ใช้ แรงกาย แรงใจ อย่างไรให้กับองค์กรที่ทำให้งานสำเร็จ
3. Measure ดูถึงผลของงานที่ทำว่าออกมาเป็นอย่างไร บางครั้งพนักงานที่เป็น Talent มีข้อมูลดี ทฤษฎีน่าเชื่อถือ แต่เมื่อไปลงปฏิบัติแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็มี หรือที่เขาเรียกว่า “ท่าดี ทีเหลว” ผู้บริหารจำเป็นต้องวางตัวเป็นกลาง และยึดถือการวัดผลเป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งในเชิงการบริหารที่สามารถตอบโจทย์ของพนักงานได้ทั้งองค์กร อย่าไปคิดแทนว่าสิ่งที่พนักงานกระทำไม่สำเร็จก็เพราะว่ามีปัจจัยด้านอื่นเข้ามา ก็จะเป็นการเอนเอียง เพื่อช่วยเหลือพนักงานได้ ก็จะทำให้ระบบในการวัดผลเสียตามมา
ถ้าผู้บริหารยึดหลักทั้ง 3 ข้อข้างต้น ก็จะมีส่วนทำให้พนักงานเกิดความเชื่อมั่นและศรัทธาผู้บริหารว่า กระทำอย่างถูกต้อง เป็นธรรม และเป็นระบบ ไม่เลือกข้างใดข้างหนึ่ง สิ่งนี้แหละจะทำให้พนักงานที่เป็น Talent ขององค์กรได้ตัดสินใจอยู่ เพราะว่าเขายังฝากความหวังไว้กับผู้บริหารที่ให้ความเป็นธรรม โปร่งใสในการทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่พนักงาน Talent เขาต้องการ