การรับพนักงานที่สูงกว่าคุณสมบัติประจำตำแหน่ง
- Published: Jul 25, 2016 15:42
- Writer: Post Today | 1,563 viewed
หน่วยงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการรับพนักงานเข้าสู่องค์กร ก็คือหน่วยงาน HR ที่จะต้องคัดสรรคนที่มีศักยภาพ มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าสู่องค์กร ก่อนที่จะมีการรับคนหน่วยงาน HR จะต้องตรวจสอบความถูกต้อง โดยดูคุณสมบัติจากแบบกำหนดหน้าที่งาน (JD) ของแต่ละตำแหน่งงาน ซึ่งในแบบฟอร์มกำหนดหน้าที่งาน จะกำหนดคุณสมบัติขั้นต่ำของตำแหน่งงานเอาไว้ ถ้าสมมติว่ามีตำแหน่งงานระดับผู้ช่วยช่างซ่อมบำรุง มีการกำหนดคุณสมบัติขั้นต่ำเอาไว้ คือ การศึกษาระดับ ปวช. และมีประสบการณ์ 2 ปี ตามตัวอย่างแบบฟอร์มกำหนดหน้าที่งาน
เมื่อตามแบบฟอร์มกำหนดไว้ให้รับระดับ ปวช. แต่ในความเป็นจริงหน่วยงานฝ่ายบุคคลมีใบสมัครของผู้สมัครคนหนึ่งที่จบปวส.มาให้หน่วยงานสัมภาษณ์ และหน่วยงานเกิดความประทับใจ และสนใจผู้สมัครรายดังกล่าวขึ้น จึงได้ประสานงานกับฝ่ายบุคคลเพื่อให้ตกลงรับผู้สมัครดังกล่าวเข้ามาเป็นพนักงาน โดยพนักงานก็ยินยอมที่จะรับเงินเดือนในอัตรา ปวช. เพราะว่าช่วงดังกล่าวยังไม่มีงานทำ จึงอยากทำงานไปก่อนสักระยะหนึ่ง แต่ฝ่ายต้นสังกัดของผู้สมัครก็มองว่า บริษัทได้เปรียบที่พนักงานยินดียอมลดค่าตัวลงมา และทำงานที่ต่ำกว่าคุณสมบัติคือคุณวุฒิของตนเอง
ถามว่ากรณีลักษณะนี้สมควรจะปฏิบัติหรือไม่ ในฐานะที่เราเป็นหน่วยงานฝ่ายบุคคล หรือแม้กระทั่งผู้บริหารองค์กร ที่เป็นผู้อนุมัติรับพนักงานดังกล่าวเข้ามาทำงานในองค์กร
จากตัวอย่างในลักษณะนี้ เชื่อว่า เกิดขึ้นมากมายหลายองค์กร เพราะว่าผู้บริหารส่วนใหญ่คิดว่า บริษัทได้เปรียบมากกว่า ที่ได้รับพนักงานที่สูงกว่าคุณสมบัติในตำแหน่งของการทำงาน และผู้สมัครก็ยินดีรับค่าจ้างที่ต่ำกว่าวุฒิในความเป็นจริงอีกด้วย ถ้าองค์กรใดได้ทำในลักษณะนี้ไปบ้างแล้ว หรือกำลังปฏิบัติอยู่ ผู้เขียนมองว่าในอนาคตจะมีความลำบากในการจัดทำโครงสร้างเงินเดือน และการวางแผนการเจริญเติบโตของพนักงาน (Career Path) ในอนาคตอย่างแน่นอน
สำหรับอีกประเด็นหนึ่งก็คือ กรณีที่พนักงานที่บริษัทรับเข้าไปในองค์กรมากๆ สักวันหนึ่ง พนักงานเหล่านี้อาจจะรวมกลุ่มกันประท้วงบริษัทเพื่อขอความเป็นธรรม ในกรณีที่มีการจ่ายค่าจ้างพนักงานไม่ถูกต้องตามวุฒิตั้งแต่ต้น ซึ่งเรื่องนี้เคยมีปัญหาในโรงงานแห่งหนึ่งมาแล้ว ที่พนักงานประท้วงขอความเป็นธรรมที่เสียสละให้องค์กรมานาน
การกระทำดังกล่าวจึงเป็นเครื่องเตือนใจให้กับผู้บริหารและฝ่ายบุคคลเอาไว้ว่า สิ่งที่ได้ปฏิบัติ โดยที่ได้รับพนักงานที่มีคุณวุฒิสูงกว่าตำแหน่งงานที่ระบุไว้ในแบบกำหนดหน้าที่งาน ก็จะส่งผลทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดทำโครงสร้างเงินเดือน และการวางแผนการเจริญเติบโตของพนักงาน ซึ่งจะเป็นสิ่งที่หน่วยงานฝ่ายบุคคลจะต้องเคลียร์และตอบคำถามพนักงานให้เกิดความชัดเจน ไม่เช่นนั้นแล้วจะเกิดปัญหาเรื่องของอัตราค่าจ้างที่ต่างกัน เพราะบางคนจบ ปวส.มาแต่ได้ค่าจ้างที่ไม่เท่ากันคือได้ตามวุฒิ ปวช. สำหรับพนักงานที่ได้รับมาถูกต้องตามวุฒิและได้ค่าจ้างตามวุฒิที่กำหนดไว้ ก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นว่า ผู้บริหารองค์กรจะบริหารคนอย่างไรที่มีวุฒิการศึกษาเหมือนกัน แต่ได้รับค่าจ้างที่ไม่เท่าเทียมกัน
นั่นคือสิ่งที่บริษัทและองค์กรต้องวางแผนการสื่อสาร และการทำการปรับอัตราค่าจ้างเพื่อให้เป็นไปตามวุฒิการศึกษาที่พนักงานจบมา ซึ่งทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นสำหรับองค์กรตามมาอย่างแน่นอน