Bangkok post> Jobs > Career guide

ไม่มีใครแก่เกินปรับตัว เพื่องานที่ใช่

  • Published: Jul 25, 2016 15:43
  • Writer: Post Today | 1 viewed


     ปัจจุบันความเครียดจากงานเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของปัญหาสุขภาพ หลายครั้งที่ผมต้องให้คำปรึกษาคนที่มีปัญหาหนักใจเพราะความเครียดจากงาน ทั้งนี้เนื่องจากส่วนใหญ่หลายคนเลือกงานเพราะเหตุผลผิดๆ และไม่ได้เลือกงานที่ตรงกับบุคลิกนิสัยและแรงจูงใจจริงของเขา จนทำให้เกิดภาวะความเครียดเรื้อรัง กลายเป็นปัญหาสุขภาพที่ต้องเยียวยา และชีวิตบั้นปลายยิ่งผิดหวังกับงาน จนเสียความภูมิใจในตัวเอง เสียความสัมพันธ์กับคนรอบตัว เพราะความเครียดบั่นทอนให้ปรับตัวกับคนรอบตัวได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เหตุผลที่คนเครียดเพราะงานที่ทำ เนื่องจาก

     1. เขา (คิดไปเองว่าตัวเอง) มาไกลเกินเปลี่ยนงาน คือ คนก่อนรุ่นเจนวาย (ปัจจุบันอายุ 30 ปลายๆ ขึ้นไป) จะมองงานเป็นขั้นบันได และความคิดเรื่องความก้าวหน้าจะผูกโยงกับการเติบโตในสายอาชีพ หรือที่เรียกว่า Career Path หลายคนพอทนทำงานมาได้ไกลพอสมควร จนเป็นถึงหัวหน้างานหรือเป็นผู้จัดการ ก็ไม่กล้าที่จะเปลี่ยน เพราะมีมุมมองความก้าวหน้าว่าต้องเติบโตในสายอาชีพ ในองค์กรที่ทำอยู่เป็นหลัก เป็นต้น

     2. เครียดเพราะ “เป็นคนชอบคิดต่าง” (คิดต่างจากคนทั่วไป) คือ คิดไม่เหมือนคนอื่น คนชอบคิดต่างจะไม่สามารถทำงานในองค์กรได้ เนื่องด้วยเขาจะมีไอเดียเป็นตัวของตัวเอง และต้องการวางแผนเอง สร้างงานเอง หากต้องปรับตัวตามความต้องการขององค์กรจะเครียดมาก เพราะเวลาทำงานกับใครจะมีวิธีการทำงานเฉพาะของตัวเอง จนคนอื่นอาจมองว่าไม่ให้ความร่วมมือ แต่จริงๆ แล้วเขาแค่เป็นคนที่ชอบคิดต่าง คนแบบนี้หากอยู่ในองค์กรจะเกิดภาวะเครียดได้ง่าย จนกว่าจะออกมาทำงานอิสระ หรือทำธุรกิจเอง จะปรับตัวง่ายขึ้น

     3. เครียดเพราะทำงานเอาใจคนอื่นจนลืมตัวเอง คนเหล่านี้มักมีหลักการที่เป็นอุดมคติ หรือที่เรียกว่าเป็น Idealist ต้องการแสดงตนว่าทำงานเพื่อส่วนรวม มีนิสัยเกรงใจ พร้อมปรับตัวเพื่อสอดรับกับสังคมที่ตนอยู่ แต่ท้ายสุดงานที่ทำไม่ทำให้เห็นความก้าวหน้า หรือพัฒนาการใดๆ ของตัวเอง จนเกิดความสับสนระหว่างการทำเพื่อส่วนร่วมกับการพัฒนาขีดความสามารถส่วนตัว นอกจากนั้นการปิดกั้นโอกาสจะทำให้ผิดหวังที่ตัวเองไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร จนเป็นปมชีวิตได้ในที่สุด

     4. เครียดเพราะต้องการสวนกระแส (Anti-Social) เป็นคนที่ชอบสวนทิศทางของสังคม ชอบแสดงความแตกต่าง สาเหตุอาจมาจากประวัติชีวิตวัยเด็ก เช่น พ่อแม่เข้มงวด ชอบบังคับความคิด ทำให้วัยเด็กไม่มีตัวตน คนเหล่านี้หากไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ สิ่งที่ท้าทายความเชื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมจะรู้สึกหงุดหงิด เพราะไม่ได้แสดงตัวตนที่ชอบสวนกระแส แต่ถ้าเขาไปทำงานสายรณรงค์ สร้างชุมชน (เพื่ออะไรสักอย่าง) ปลุกจิตสำนึก หรือปลุกกระแสสังคม กระแสมวลชน จะทำได้ดีกว่าคนทั่วไป ถ้าอยู่ในองค์กรจะไปได้ไม่ค่อยไกล เพราะชอบมีอิทธิพล มากกว่าร่วมมือ

     5. เครียดเพราะแรงจูงใจทำงานผิดแต่ต้น จนมี “หน้ากากงาน” (Work Mask) แรงจูงใจในการทำงานต้องมาจากความรู้สึกข้างในจริงๆ ว่าเราเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ถ้าไม่ได้ทำสิ่งนี้ เราจะไม่มีความสุข และไม่ภูมิใจตัวเอง แต่หลายคนไม่ได้ตั้งต้นทำงานเพราะความรู้สึกชอบจริงๆ ข้างใน แต่กลับยินดีรับแรงกดดันจากคนสำคัญในชีวิตหรือสังคม จนต้องทิ้งความสุขเพื่อตอบโจทย์อื่นๆ ทั้งที่ตัวเองไม่ได้ตั้งโจทย์ชีวิตนั้นเอง และท้ายสุดงานที่ทำก็จะทำเพียงเพราะเป็นหน้าที่ จนไปได้ไม่สุด เพราะใจไม่ได้รักงานที่ทำอยู่ ความเครียดเพราะต้องตอบโจทย์คนสำคัญในชีวิต ยังรวมถึงทายาทธุรกิจที่ต้องรับช่วงต่อจากรุ่นพ่อแม่อีกด้วย

     ความเครียดจากงาน เพราะเลือกงานผิด ด้วยแรงจูงใจผิด เกิดกับคนไม่ต่ำกว่า 80% ของสังคม มีคนจำนวนน้อยที่กล้ามองความต้องการจริงของตัวเอง และทบทวนจนปรับทิศทางงานได้ตรงบุคลิกนิสัย และแม้บางคนเพิ่งไหวตัวทันเมื่อเริ่มแก่ ก็ไม่ได้สายเกิน เพราะพวกเขามักจะประสบความสำเร็จไม่มากก็น้อย แถมมีความสุข มีความภูมิใจในตัวเองมากขึ้น ความสัมพันธ์รอบตัว สุขภาพกาย สุขภาพจิตก็ดีขึ้นตามมา

     สำคัญคือ เรารู้บุคลิกนิสัยและแรงจูงใจตัวเองจริงๆ จนสามารถเลือกงาน ปรับเนื้องาน จนไม่ต้องทนเสียสุขภาพกาย สุขภาพจิต เพราะเครียดจากงานนั่นเอง