Bangkok post> Jobs > Career guide

ลาออกเมื่อไรดี

  • Published: Jul 14, 2016 12:38
  • Writer: Post Today | 1,265 viewed



     ช่วงนี้มีทั้งทีมงานของผมเองมาขอลาออกไปหลายคน รวมถึงเพื่อนร่วมงานอีกหลายคนก็ออกไปทำงานที่ใหม่ บ้างก็เป็นบทบาทใหม่ในชีวิตเลย บ้างก็เป็นบทบาทเดิมแต่องค์กรใหม่ มีหลายคนมาปรึกษาผมก่อนที่จะลาออก ซึ่งแต่ละคนก็มีเหตุผลในมุมมองของตัวเอง การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่แปลก แต่ที่สำคัญคือการเปลี่ยนงานนั้นต้องดีขึ้น และการตัดสินใจในการเปลี่ยนงานนั้นควรเป็นการตัดสินใจตามกระบวนการที่ถูกต้อง ไม่ควรเป็นการใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ ผมเคยเล่าเรื่องนี้ไปทีแล้ว แต่นานมากแล้ว วันนี้เลยขอนำมาเล่าใหม่อีกครั้ง

     หลายคนเปลี่ยนงานเพราะเพื่อนชักชวน บริษัทนายหน้ามาเสนอ เพราะเบื่องานเดิม เพราะอยากลองของใหม่ เพราะโมโหหัวหน้า โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ จะมีการเปลี่ยนงานบ่อยกว่าคนทำงานรุ่นเก่าๆ ก็มองได้สองอย่างคือ

     แรงผลัก - เพราะคนบางคนมีความคิดที่ต่างไป แทนที่จะมีแนวคิดว่าทำงานกับองค์กรใดองค์กรหนึ่งนานๆ มาเป็นการไม่ยึดติดองค์กร แต่จะยึดติดกับผลตอบแทนเป็นหลักมากขึ้น หลายคนมีความเชื่อและค่านิยมที่ว่า การเปลี่ยนงานบ่อยสามารถเพิ่มเงินเดือนให้กับตัวเองได้เร็วกว่า และมากกว่าการขึ้นเงินเดือนขององค์กรเดิม การพบปะกับเพื่อนสมัยเรียน มีการคุยกันว่าใครเงินเดือนสูงกว่า ใครอายุน้อย แต่ตำแหน่งหน้าที่สูงกว่าจะถูกมองว่าเป็นคนเก่ง ด้วยความเชื่อต่างๆ เหล่านี้จึงทำให้คนอยากเปลี่ยนงานกันบ่อยๆ

     แรงดึง - คือสิ่งล่อใจต่างๆ ที่มาจากกลไกของตลาดการจ้างงาน ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างที่สูงกว่า ตำแหน่งที่ดีกว่า หรือการใช้บริการของบริษัทนายหน้าหางานต่างๆ ที่ไปเสาะแสวงหาคนเก่งในองค์กรต่างๆ ซึ่งความจริงแล้วยังไม่เคยคิดจะเปลี่ยนงานเลย แต่พอเจอข้อเสนอดีๆ ก็อาจหวั่นไหวได้

     การเปลี่ยนงานนั้นไม่ควรเปลี่ยนงานเพราะ “อยากเปลี่ยน” กล่าวคือ มีบางอย่างมากระตุ้นให้เราเกิดความอยาก เช่น เงินเดือนที่สูงกว่า ตำแหน่งที่สูงกว่า หรือสิ่งล่อใจต่างๆ แต่การเปลี่ยนงานควรเปลี่ยนเพราะ “ต้องเปลี่ยน”

     กล่าวคือ งานเดิมที่ทำหรือองค์กรเดิมไม่สามารถตอบสนองหรือเติมเต็มเป้าหมายในชีวิตของเราได้ เช่น เรามีเป้าหมายว่าในอีก 5 ปี เราจะต้องมีตำแหน่งผู้จัดการ แต่พอถึงเวลาแล้วเรายังไม่ได้เป็น ถ้าเราคิดว่าเรามีความสามารถเพียงพอ แต่โอกาสของที่ทำงานปัจจุบันไม่รองรับการเติบโตของเราได้ นั้นแหละเราควรเปลี่ยนงาน เพื่อตอบสนองเป้าหมายในชีวิตที่เรากำหนดไว้

     ความก้าวหน้าในอาชีพของมนุษย์เงินเดือน ก็ขึ้นอยู่แต่ละองค์กรที่กำหนด หรือที่เรียกว่า Career Path เส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพนั้น มักจะมีข้อจำกัดเยอะ ยิ่งองค์กรใหญ่ๆ ก็จะยิ่งมีเยอะ เช่น กำหนดว่ากี่ปีจะมีโอกาสเลื่อนตำแหน่ง การแต่งตั้งจะต้องมีคุณสมบัติอย่างนั้นอย่างนี้ บางที่ต้องมีตำแหน่งงานว่างก่อน ถ้าไม่มีก็ต้องทำเรื่องปรับอัตราให้เรียบร้อยก่อน จึงจะปรับตำแหน่งได้ หรือไม่ก็ต้องรอให้คนที่อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าออกไปเสียก่อน เส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพของบางองค์กรมีไว้เพื่อให้ดูดี แต่โอกาสที่จะเติบโตขึ้นไปจริงๆ มีไม่มากหรอก เพราะข้อจำกัดเยอะ คนทำงานหลายคนย่ำอยู่กับที่ไม่ไปไหน ไม่ใช่ว่าเขาไม่เก่ง แต่ข้อจำกัดมันเยอะ สรุปง่ายๆ คนเก่ง แต่ไม่มีตำแหน่งว่าง

     คนเก่งหลายคนไม่ได้มีโอกาสเติบโตในช่วงจังหวะที่เหมาะสม พอนานๆ ไป ก็โตไม่ขึ้น จะออกไปเติบโตที่อื่นก็ไม่ได้แล้ว เนื่องจากอายุก็มากเกินไป เงินเดือนก็สูงเกินไป เมื่อเทียบกับตำแหน่งที่จะสมัคร ดังนั้นทุกคนควรกำหนดเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพของตัวเองขึ้นมา โดยเขียนให้สอดคล้องกับเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพแบบเดียวกับที่องค์กรมีให้เรา เช่น กี่ปีเราจะไปถึงตำแหน่งไหน จะพัฒนาตัวเองอย่างไรถึงจะไปถึงตรงนั้น ถ้าเรามีคุณสมบัติถึงก็ดูว่าองค์กรปัจจุบันตอบสนองเราได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้เพราะข้อจำกัดต่างๆ เช่น ขนาดองค์กร โควต้าของตำแหน่งในระดับสูง เป็นต้น เราจะเชื่อมโยงเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพของเรากับองค์กรอื่นได้อย่างไร เราก็จะได้มีเวลาเตรียมตัวสะสมประสบการณ์ เตรียมตัวซ้อมสมัครงาน เตรียมตัวเปลี่ยนที่ทำงาน เป็นต้น

     สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ทำงานในองค์กรน้อยกว่า 1 ปี อย่าคิดเปลี่ยนงานเลยครับ เพราะเวลาแค่ 1 ปี เป็นช่วงของการเรียนรู้ซะมากกว่า ที่จะได้พัฒนาฝีมือการทำงานจริงๆ เพราะแค่ 1 ปี คุณไม่มีทางรู้จักองค์กรนั้นดีหรอก ดังนั้นการตัดสินใจว่าไม่เหมาะกัน ผมว่าเป็นการด่วนสรุปไป แต่ที่แน่ๆ คุณจะเสียโอกาสของการสะสมประสบการณ์การทำงานจริงๆ ผมหมายถึงประสบการณ์ทำงานที่เกิดในตัวคุณจริงๆ ไม่ใช่แค่สะสมประวัติการทำงานในกระดาษ เพื่อไปใช้อ้างอิงในการสมัครงาน แต่ก็อย่างว่าบางคนมีความเชื่อที่ว่าการเปลี่ยนงานจะได้ผลตอบแทนแบบก้าวกระโดดมากกว่าที่ได้เพิ่มจากที่เดิม

     ถ้าคุณหลงไปติดกับสิ่งล่อใจมากเกินไป สุดท้ายคุณก็ต้องหลอกตัวเองและหลอกนายจ้างไปตลอด เพราะไม่มีฝีมือหรือประสบการณ์ที่ดีพอที่จะทำงานให้คุ้มกับค่าจ้างที่เขาจ้างเรา จากการประเมินในประวัติการทำงานของเรา อย่าลืมนะครับ เขาจ่ายมาก ก็คาดหวังมาก แต่เราเองเปลี่ยนงานทุกปี ไม่มีเวลาแม้กระทั่งจะพัฒนาตัวเองหรือสะสมประสบการณ์ในการทำงานจริงๆ มีก็แค่หนังสือรับรองการผ่านงาน แค่ผ่านงานจริงๆ

     บางครั้งการโตเร็วอาจไม่เป็นผลดีก็ได้ หลายคนที่โตไว เพราะเปลี่ยนงาน แต่ไม่ได้เก่งจริง มักจะไปตกม้าตายตอนติดลมบน เพราะกระดูกไม่แข็งพอ ไปเจอของหนักๆ แรงๆ จากพวกเสือสิงห์กระทิงเฒ่าที่แก่พรรษา บางที่ก็ชอร์ตไปดื้อๆ เหมือนกัน ไม่ต้องรีบก้าวกระโดดครับ แต่ต้องรีบตักตวงประสบการณ์ในงานที่ทำอยู่ในปัจจุบันให้เต็มที่เสียก่อน ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ อย่าตัดสินใจเปลี่ยนงานเพราะได้งานใหม่ แต่จงตัดสินใจเปลี่ยนงานก่อนที่จะสมัครงานครับ