Bangkok post> Jobs > Career guide

สรรหาแบบ Proactive

  • Published: Jul 1, 2016 14:57
  • Writer: Post Today | 1 viewed


     จากที่แรงงานในประเทศของเราขาดแคลน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานแทนเครื่องจักร เพราะต้องอาศัยความละเอียด รอบคอบ และความชำนาญพิเศษ ที่เครื่องจักรไม่สามารถทำได้ จำเป็นต้องอาศัยแรงงานคน เช่น ธุรกิจด้านการบริการลูกค้า ธุรกิจด้านอาหาร ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและบริการ ธุรกิจด้านสุขภาพ 

     กระบวนการสรรหาคนเข้าสู่องค์กรในยุคปัจจุบัน จึงเป็นปัญหาหลักและเป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับผู้บริหารองค์กร เพราะว่าผู้เขียนได้มีโอกาสได้เข้าไปบรรยายในบริษัทที่เป็นธุรกิจ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ มักจะพูดกันเป็นเสียงเดียวว่า หาคนมาสมัครงานก็ยาก มาทำงานแล้วก็ทำงานไม่ค่อยทน และเมื่อเข้ามาทำงานแล้วก็ไม่ค่อยเต็มที่ให้กับองค์กร ถึงเวลาแล้วที่นักบริหารงานบุคคลควรจะมีการทบทวนระบบการสรรหาเสียใหม่ โดยเริ่มจาก

     1. การวิเคราะห์ดูว่าตำแหน่งงานไหนบ้างที่ต้องใช้ระยะเวลานานหรือหายากในตลาดแรงงาน ในการสรรหาตำแหน่งไหนบ้างที่หายาก ควรจะนำมาจัดทำแผนการสรรหาเชิงรุก เช่น การลดเวลาในการสรรหาโดยการสรรหาและคัดเลือกบุคลากรไว้ล่วงหน้า

     2. องค์กรจัดตั้งโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเป็นของตัวเองเพื่อผลิตคนที่มีความรู้และทักษะเฉพาะ เพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลนแรงงานที่มีผลกระทบต่อบริษัทและกระบวนการผลิต เช่น บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ที่รับมาเป็นนักศึกษาและทำงานไปด้วย

     3. การให้ทุนนักเรียนนักศึกษาและให้ทำงานพร้อมๆ ไปกับการเรียน การสร้างระบบในลักษณะนี้ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แก้ไขปัญหา การขาดแคลนแรงงานในระดับหนึ่งได้ และจะเกิดแรงจูงใจในการทำงานให้กับองค์กร เกิดความทุ่มเท พิทักษ์ผลประโยชน์ให้กับบริษัท

     4. การพัฒนาทักษะความสามารถของพนักงานให้มีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าทักษะความเชี่ยวชาญในงาน จะเพิ่มปีละ 3% บริษัทและองค์กรต่างๆ จึงควรมุ่งเน้นใส่ใจ พัฒนา ความรู้ ความสามารถพนักงาน ให้มีทักษะที่เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงาน ซึ่งจะทำให้องค์กรประหยัดค่าใช้จ่าย ด้านอัตรากำลังได้ในระดับหนึ่ง

     5. การช่วยเหลือสังคมและชุมชนบริเวณรอบบริษัท ให้ชุมชนได้รู้จักองค์กร และสินค้า ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะทำให้ ชุมชนในละแวกบริษัท เกิดความศรัทธาและนับถือ ส่งลูกหลาน เข้ามาทำงานในองค์กร โดยทำให้เกิดความผูกพันระหว่างองค์กรและชุมชน กระบวนการสรรหาคนก็ไม่ต้องเดินทางไปไกล สามารถใช้แรงงานจากชุมชนที่ใกล้บริเวณบริษัท ส่งผลดีตามมาก็คือ บริษัทไม่มีค่าใช้จ่ายในการจัดสถานที่พัก สะดวกในการเดินทางมาปฏิบัติงาน

ตัวอย่าง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ได้เข้าไปมีส่วนช่วยเหลือชุมชนใกล้เคียงกับโรงงาน โดยการบริจาคปูนให้กับชุมชน ซึ่งทำให้ชุมชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีถนนคอนกรีตเข้าถึงทุกหมู่บ้าน และการชำรุดเสียหายค่อนข้างมีน้อย ทำให้ทุกชุมชนเกิดความศรัทธา และเชื่อมั่นว่าบริษัทได้ช่วยเหลือ เป็นผู้มีบุญคุณกับชุมชน

นอกจากนั้น ก็ยังให้ความรู้แก่ชุมชนให้มีรายได้เลี้ยงตัวเอง เช่น จัดหาอาจารย์มาสอนชาวบ้าน ให้มีความรู้เกี่ยวกับการทำสมุนไพรจากพืชผักสวนครัวของชาวบ้าน การทำขนมไทย การปั้นโอ่ง เป็นต้น สิ่งที่บริษัทได้ลงทุนไป ในระยะยาวสิ่งที่ได้รับตามมาก็คือ ชุมชนได้ส่งลูกหลานเข้ามาทำงานที่บริษัท โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ใน Internet หรือตามหน้าหนังสือพิมพ์

     งานบางอย่าง เทคโนโลยีไม่สามารถเข้ามาทดแทนแรงงานคนได้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องอาศัยแรงงานคนอยู่ดี กระบวนการสรรหาคนเข้าสู่องค์กรในยุคปัจจุบัน จึงเป็นปัญหาหลักและเป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับผู้บริหารองค์กร โดยกระบวนการที่

     6. การเสริมสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่รู้จัก ส่วนใหญ่เยาวชนในยุคปัจจุบันอยากทำงานในองค์กรที่เขาใฝ่ฝันตั้งแต่เด็ก เพราะว่าตรายี่ห้อสินค้าได้ทำให้เขาเกิดความรู้สึกที่ดี อยากเข้ามาร่วมงาน เช่น KFC แมคโดนัลด์ ทั้งสองแบรนด์ได้สร้างความประทับใจตั้งแต่เด็ก จนทำให้เกิดความผูกพันและเกิดความเชื่อมั่นฝังใจ เมื่อเติบโตขึ้นมาเยาวชนทั้งหลายก็จำความรู้สึกเมื่อยังเด็กได้ เลยอยากมีส่วนร่วมกับองค์กรที่มีการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก

     7. การใช้บริษัทเป็นสถานที่ฝึกงานแก่นักศึกษาก่อนจบ เป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนทำให้นักศึกษาก่อนที่จะก้าวสู่โลกอาชีพได้รู้จักและมีความผูกพันกับองค์กรที่ได้ให้สถานที่ฝึกงานแก่นักศึกษา โดยส่วนใหญ่สถานที่ฝึกงานได้รับน้องไปฝึกงานแล้ว มักจะเกิดความประทับใจ ความผูกพัน บางแห่งให้สัญญาใจกันไว้ว่า ถ้าน้องจบมาสมัครงานที่บริษัทจะรับเป็นพนักงานประจำก็มี

     8. สร้างองค์กรให้เป็น Flexi-Organization องค์กรควรพัฒนาระบบการบริหารจัดการให้เป็นองค์กรที่มีความยืดหยุ่นสูง เช่น คนทุกคนพร้อมที่จะทำงานในหน้าที่อื่นได้ หรือพนักงานต้องทำงานได้หลายหน้าที่ (Flexi-People) เพื่อเพิ่มศักยภาพสำหรับตัวพนักงานเอง และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้ บางธุรกิจอาจมีข้อจำกัด เช่น ธุรกิจโรงพยาบาล โดยเฉพาะในส่วนงานที่เป็นทักษะ ความชำนาญเฉพาะด้าน จะไม่สามารถพัฒนาพนักงานให้มีทักษะความสามารถ ทำงานแทนกันได้ เพราะต้องใช้เวลา และความสมัครใจในการทำงานนั้นๆ ด้วย

เครื่องจักรสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตได้หลายรูปแบบ (Flexi-Process) การจัดกระบวนทัพของตำแหน่งหน้าที่และหน่วยงานพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้ตลอดเวลา (Flexi-job/Structure) องค์กรพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนเวลาทำงาน ให้เหมาะสมกับปริมาณงาน (Flexi-Working time)

     9. การสร้างองค์กรให้เกิดความแตกต่าง ผู้บริหารระดับสูงหลายองค์กรเริ่มมีความเข้าใจความหลากหลายของพฤติกรรมมนุษย์ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มีความคิดที่แตกต่างไปจากคนรุ่นเก่า ผู้บริหารก็จะมีการสร้างความแตกต่างขององค์กร เพื่อเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้สมัครหันมาสนใจบริษัท เช่น การปรับใช้สวัสดิการแบบยืดหยุ่น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะเลือกแพ็กเกจแบบที่มีเงินเดือนเพียงอย่างเดียว เพราะอยากได้เงินเดือนสูงๆ อยากเป็นเจ้าของกิจการ

การให้โบนัสพนักงานทุกระดับโดยการพาไปเที่ยวต่างประเทศ ทำให้พนักงานระดับล่างเกิดความรู้สึกก็คือ ไปอยู่ที่บริษัทอื่นไม่มีโอกาสได้เดินทางไปเที่ยวต่างประเทศอย่างแน่นอน สิ่งที่องค์กรได้รับคือ ความแตกต่าง ความเลื่องลือ จากในหมู่บริษัทที่ทำงานอยู่ ยิ่งทำให้ผู้สมัครที่ได้รับข้อมูล สนใจที่จะเข้ามาร่วมงานในบริษัทมากยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนประชาสัมพันธ์ หรือประกาศรับสมัครพนักงานเลยก็ได้

     สรุปการสรรหาแบบเชิงรุก จำเป็นต้องวางแผนระยะยาว และนำเอาเครื่องมือการบริหารจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์เข้ามาช่วย และต้องตอบได้ว่า ถ้างานที่ทำอยู่เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน องค์กรพร้อมที่จะรับมือ แต่ถ้าไม่พร้อมนั่นคือโจทย์ที่องค์กรต้องนำไปกำหนดแนวทางและจัดทำแผนรองรับต่อไป