Bangkok post> Jobs > Career guide

พัฒนาจริยธรรมในองค์กร

  • Published: Jun 3, 2016 17:57
  • Writer: Post Today | 1 viewed


     องค์กรจะต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากจำแนกตามความเร็วและความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลง จะแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

     1. เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป - เป็นการเปลี่ยนช้าๆ

     ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น เสริมทักษะ ฝึกอบรมพนักงาน ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ดีกว่าเดิม ข้อดี คือ ทำง่าย พนักงานยอมรับมากกว่า ข้อเสีย คือ ถ้าคู่แข่งเปลี่ยนเร็วกว่า เราจะล้าหลังไป ยิ่งยุคนี้แข่งขันรุนแรง แล้วประเทศเราค่อนข้างพัฒนาช้า ผมจึงไม่แนะนำบริษัทคนไทยใช้วิธีนี้เพียงแนวทางเดียว

     2. เปลี่ยนแปลงแบบทิ้งของเก่าและนำของใหม่เข้ามา - เอาระบบเก่าออกไปและนำระบบใหม่ใส่เข้ามาเลย

     ปรับปรุงจนแทบไม่เหลือร่องรอยการทำงานแบบเก่า มีของใหม่มากกว่า 50% เปลี่ยนจากรูปแบบหนึ่งไปสู่รูปแบบที่ดีกว่าเดิม วิธีนี้เหมือนเอาระบบหรือเทคโนโลยีเป็นตัวนำ คนต้องปรับตัวตามให้ทัน ทั้งวิธีคิด ความรู้ พฤติกรรม หลายบริษัทใช้วิธีนี้ และต้องลดเวลาเปลี่ยนแปลงให้สั้นลง ข้อระวังคือ อาจมีแรงต้านจากคนที่เปลี่ยนตัวเองได้ช้าซึ่งมักไม่ชอบวิธีนี้ วิธีนี้ต้องมีผู้จัดการเก่ง อาจเป็น Line Manager, CEO ส่วน HR ต้องทำหน้าที่นี้แข็งขันกว่าเดิม

     3. เปลี่ยนแปลงแบบปฏิรูป - เปลี่ยนทุกอย่างตั้งแต่ระบบอุดมการณ์ของคน และเปลี่ยนกลยุทธ์ธุรกิจไปพร้อมกัน

     วิธีนี้เกิดการต่อต้านได้มากที่สุด ทำให้ได้คนที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม ถ้ารุนแรงมากจะเป็นการคัดพนักงานกลุ่มนั้นออกจากองค์กรเลยแล้วหาคนใหม่ที่เหมาะสมกับองค์กรใหม่ ถ้าเป็นองค์กรเก่าๆ รับรองจะมีการปลดคนออก คัดคนที่มีความคิดเก่าๆ ออกไป การเปลี่ยนแปลงมากเหมือนบริษัทถูกซื้อไปเลย และเจ้าของใหม่เป็นคนที่ทันสมัย สิ่งเหล่านี้เกิดในไทยนานแล้ว ข้อเสียคือ ขัดแย้งสูง ภาวะจิตใจคนจะตกต่ำ บทบาท HR ต้องสร้างแล้วเตรียมพร้อมพนักงานทุกคน ช่วยสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ กำหนดกลยุทธ์ใหม่ หล่อหลอมวิธีทำงานใหม่ HR ต้องทำคู่กับผู้บริหาร Line Manager ทั้งชุดใหม่และเก่า

     ธุรกิจ+บุคคล+ความเร็วในการเปลี่ยนแปลง = ความสำเร็จ HR เป็นคนกลางที่ต้องเปลี่ยนคนให้เข้าใจและยอมรับธุรกิจได้รวดเร็วทันความต้องการแข่งขันของบริษัทและความต้องการของลูกค้าจึงจะสำเร็จ

คนทั่วไปจะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่างกัน จำแนกเป็น 5 ประเภท

1. พร้อมทันที - ผู้นำพูดถึงการเปลี่ยนแปลงก็คิดและทำได้เลย มีใจและความสามารถเปลี่ยนตามที่ผู้นำต้องการ ถือเป็นคนกลุ่มน้อยในองค์กร

2. ต้องมีผู้นำ - พร้อมเปลี่ยนแต่ต้องมีผู้นำ คนกลุ่มนี้มีภาวะผู้นำน้อย

3. คิดซ้ำๆ ก่อนเปลี่ยน - ชอบคิดมาก จับผิด อาจมีประสบการณ์ในอดีตที่ไม่ดีว่าการเปลี่ยนแปลงในองค์การมักไม่ค่อยสำเร็จ หรือเห็นตัวอย่างองค์การอื่นที่ไม่ประสบความสำเร็จเลยคิดมากไม่อยากเปลี่ยน อีกอย่างคือ คนที่ไม่มั่นใจในตัวเอง ชอบระแวงผู้นำ เพื่อนร่วมงาน รวมถึงตนเอง กลุ่มนี้คือคนที่รู้มากและเปลี่ยนแปลงช้า แต่ในที่สุดจะเปลี่ยนแปลง

4. จวนเจียนจึงเปลี่ยนใจ - คือพวกดื้อเงียบ แม้จะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็จะนิ่งอยู่อย่างนั้น กับพวกดึงดัน ที่ชอบต่อต้านทุกวิถีทาง ก่อกระแสต่อต้าน กลุ่มนี้ในที่สุดเมื่อไม่มีทางเลือกแล้วจึงยอมเปลี่ยนแปลง

5. อย่างไรก็ไม่เปลี่ยน - คนจำพวกบัวใต้น้ำ คนอื่นเปลี่ยนอย่างไร ตนเองก็จะไม่เปลี่ยน รอให้คนอื่นมาเปลี่ยนตัวเอง กลุ่มนี้น่าสงสารที่สุด เพราะสังคมปัจจุบันอาจต้องการคนประเภท 1-3 เท่านั้น พวกจวนเจียนจึงเปลี่ยนใจอาจสายไปด้วยซ้ำ นายจ้างใหม่หรือเพื่อนอาจไม่รอเรา

     คนหนึ่งคนอาจตอบสนองการเปลี่ยนแปลงแต่ละเรื่องไม่เท่ากัน จึงต้องประเมินสถานการณ์ให้ดีว่าแต่ละคนอยู่กลุ่มไหน ในแต่ละเรื่อง