คนขี้ลืม
- Published: Jan 29, 2016 14:57
- Writer: นสพ. M2F ฉบับวันที่ 29 มกราคม 2559 | 1 viewed
อยู่ดีๆ ก็หาของที่เรามักจะใช้ประจำไม่เจอ เหมือนว่ามันพร้อมจะหาย เมื่อเราจะหา เป็นซะอย่างนั้น บางทีปากกาก็หาไม่เจอ แต่มารู้ตัวอีกทีก็เหน็บไว้ที่ข้างหู มือถือไม่รู้ว่าหายไปจากกระเป๋ากางเกงตอนไหน ทั้งๆ ที่ตอนนี้ก็กำลังใช้มือถือโทรคุยอยู่ เอ๊ะ!! เป็นอะไรกันละนี่ อย่างนี้จะเรียกว่าหลงลืม หรือขี้ลืมดีน้อ
หลงลืม กับขี้ลืม นี่ต่างกัน เพราะถ้าเราไม่ได้ใส่ใจในเรื่องบางเรื่อง โดยที่ไม่เอาสมาธิไปมุ่งกับเรื่องนั้น เราก็จะจำไม่ได้ เรียกว่า ขี้ลืม วิธีนี้แก้ได้โดยเอาสมาธิไปใส่ใจ กับเรื่องที่เราทำ เช่น จดบันทึก หรือถ่ายภาพ มือถือไว้ ว่าจอดรถที่ชั้นไหน หรือเบอร์โทรศัพท์ ที่ติดประกาศไว้เบอร์อะไร ต่างกับหลงลืม จะจำไม่ได้เลยด้วยซ้ำว่าขับรถมาหรือวางของผิดที่ อย่างเอากุญแจไปวางในแก้วน้ำ เอาเตารีดไปแช่ตู้เย็น เป็นต้น
1. ฝึกสมองอยู่เสมอ ลองทำกิจกรรมใหม่ๆ ที่ดีและสร้างสรรค์ดู เช่น แปรงฟันด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด เขียนหนังสือด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด ใช้ตะเกียบด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด หรือแม้แต่เดินทางไปทำงานในเส้นทางหรือวิธีการใหม่ๆ แต่อันนี้ต้องเผื่อเวลาไว้ล่วงหน้า อย่าให้สายละเดี๋ยวจะต้องเปลี่ยนงานใหม่ซะงั้น
2. อย่าทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน บางทีที่เราขี้ลืม เพราะคุณเป็นคนประเภทที่ เรียกได้ว่า “เยอะอย่าง” จนเกินไป ทำอะไรหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน ไหนจะเช็กอีเมล แล้วจะตอบไลน์ และพิมพ์งานส่งหัวหน้าอีก ทั้งๆ ที่ยูทูบก็ยังเปิดค้างอยู่เลย แบบนี้มันจะได้ดีสักอย่างไหมนี่ แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อันตรายมาก หากทำหลายอย่างนั้นในเวลาเดียวกัน และเป็นเวลาที่แต่ละวินาทีก็มีอันตรายต้องใช้สมาธิอย่างยิ่ง เช่น เล่นไลน์ตอนขับรถ หรือโทรหาแฟนตอนเดินข้ามถนน หรือรับสายตอนขึ้น-ลงรถเมล์ อันนี้น่ากลัวนะคะ
3. วางของให้เป็นระเบียบ ต้องจัด 5 ส บนโต๊ะทำงาน แยกเอกสารที่จะใช้อันไหน จะทิ้งอันไหนจะรีไซเคิล จัดให้เป็นระเบียบ จะได้รู้ว่าเอกสารประเภทไหนอยู่ที่ใด ขอแนะนำว่า ของที่มักจะใช้บ่อยๆ ให้อยู่ใกล้มือ ไม่เกิน 1 เอื้อมมือ ส่วนอะไรที่ไม่ค่อยได้ใช้ ให้จัดเข้าเก๊ะ เข้าลิ้นชัก แล้วเขียนแปะด้านหน้าไว้ว่า ช่องนี้ ใส่อะไรบ้าง ก็จะหายงงกันไปในทันที
4. โน้ตช่วยจำ แน่นอนว่าเราไม่สามารถจำาทุกอย่างบนโลกได้หมด เราจึงต้องมีสมุด ปากกา กระดาษโน้ต เขียนเอาไว้ อะไรที่เราอยากทำ อยากจำชั่วคราว เดี๋ยวจะลืมไปได้ แต่ตอนนี้ต้องจำ ต้องท่องให้ได้ ก็จดไปซะก่อน อะไรกลัวลืมบ่อยๆ ก็เขียนเป็นกระดาษโน้ตแปะกาวไว้ตรงข้างหัวเตียง ริมประตู ริมหน้าต่าง กันไปให้ รู้แล้วรู้รอดไปเลยจะได้ไม่ลืม
5. กินเมนูเพื่อสุขภาพ แนะนำให้กินปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาทูน่า ปลาคอด ปลาแซลมอน ซึ่งมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวในกลุ่มโอเมก้า 3 ซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาสมอง เพิ่มการเรียนรู้ การมีสมาธิในการจดจำ ลดความเสี่ยงอัลไซเมอร์ นอกจากนี้การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน ก็ดีต่อสมองของเราเช่นกัน