รับมือเพื่อนร่วมงาน (ตัวแสบ)
- 13 กรกฎาคม 2559 เวลา 16:18 น.
- รายงานข่าวโดย: นสพ. M2F ฉบับวันที่ 27 ตุลาคม 2558 | 1,604 viewed
ชีวิตคนทำงาน เครียดเรื่องงานแล้วบางครั้งยังต้องมาปวดหัวกับคนในที่ทำงาน แต่จะให้ลาออกทิ้งเงินเดือนเลี้ยงตัวไปก็ใช่เรื่อง เพราะเหมือนกับหนีปัญหา ทั้งยังไม่แน่ใจว่าจะไปเจอคู่กรรมเก่าในที่ทำงานใหม่อีกหรือไม่ ลองมาดูวิธีปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมงาน 8 ประเภทแบบมืออาชีพเพื่องานที่มีประสิทธิภาพกันดีกว่า
1. เอื่อยเฉื่อยแบบเช้าชามเย็นชาม ประเภททำงานแบบย่ำอยู่กับที่ เพราะเคยชินกับวงจรการทำงานแบบเดิมๆ ที่รู้สึกว่าปลอดภัยดี จึงไม่คิดปรับปรุง คนแบบนี้จะกลัวการเปลี่ยนแปลงและมักคัดค้านไว้ก่อน เจอแบบนี้ต้องรับมือโดยให้เวลาเพื่อนร่วมงานได้เรียนรู้ประโยชน์ของสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลง เพื่อค่อยๆ ยอมรับและเริ่มทำด้วยตัวเอง หรือเสนอให้มีการอบรมให้ความรู้ใหม่ๆ เพื่อเปิดโลกทัศน์จะได้เลิกยืนหยัดคัดค้าน
2. แยกเรื่องไม่ค่อยออก บางคนแยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวไม่ออก บางครั้งมีปัญหาที่บ้านทำให้ไม่สบายใจก็เก็บตัวหรือหงุดหงิด พานมีเรื่องกับคนอื่นไม่รู้ตัว หรือมีเรื่องขุ่นเคืองกับคนในที่ทำงานพานให้เสียงาน รับมือง่ายๆ ด้วยการพยายามให้ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยปรับความเข้าใจ เพื่อจะได้ร่วมงานกันต่อไปอย่างราบรื่น
3. ไม่มั่นใจในตัวเอง มีความคิดดีแต่ไม่กล้าแสดงออก กลัวล้ำเส้นหรือถูกตำหนิ หากทำผิดพลาดแบบนี้ต้องคอยให้กำลังใจ ส่งเสริมให้ทำสิ่งที่ดี พยายามให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก่อน หากทำผิดก็ช่วยแก้ไข ไม่ตำหนิหรือซ้ำเติม
4. เหลี่ยมจัด ลอบกัด ปัดความรับผิดชอบ พวกเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว ต่อหน้าอย่างลับหลังอีกอย่าง เอาความดีใส่ตัวแล้วโยนความชั่วให้คนอื่น ถ้าต้องร่วมงานด้วยควรระวังให้มาก เพราะอาจถูกแทงข้างหลังเป็นแผลเหวอะหวะ หรืออาจเจอเล่ห์กลเล่นแง่ ทำให้งานของเขากลายเป็นงานของเราได้ง่ายๆ ตั้งเป้ารับมือโดยเข้าใกล้เท่าที่จำเป็นอย่าไปสุงสิง ทำงานของตัวเองให้ดีที่สุดเป็นพอ
5. หลงตัวเอง คิดว่าฉลาดเกินคนอื่นหรือไม่มีใครฉลาดเท่า จึงไม่ยอมแบ่งงานหรือร่วมงานกับใคร รวมทั้งไม่ชอบฟังคำแนะนำจากใครด้วย วิธีรับมือพยายามปรับตัวทำใจให้ชิน พูดให้น้อย ชื่นชมในความเก่ง หลีกเลี่ยงการตำหนิ แต่ควรบอกเมื่อทำผิดพลาด
6. หนักไม่เอา เบาไม่สู้ คนประเภทนี้ชอบผัดวันประกันพรุ่ง กินแรงคนอื่น ไม่ค่อยเสียสละ เลี่ยงได้เป็นเลี่ยง วิธีรับมือที่ดีให้พยายามพูดชื่นชมผลงาน เพื่อให้แสดงฝีมือบ่อยๆ ในทางกลับกันอย่าไปตำหนิเพราะยิ่งตำหนิก็จะยิ่งไม่ยอมทำอะไรเลย
7. ขี้โมโห ถ้าเรามีเพื่อนร่วมงานประเภทโกรธง่าย หายเร็ว เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ไม่พอใจอะไรก็แสดงออกมาโดยไม่คิดถึงจิตใจผู้อื่น ต้องรับมือด้วยการไม่เถียงขณะที่เขาแสดงอาการฉุนเฉียว เพราะถึงอย่างไรเขาก็ไม่รับฟัง ถ้าอยากจะเตือนต้องพูดตอนอารมณ์ดีๆ
8. ไร้มนุษยสัมพันธ์ คนประเภทนี้จะตรงไปตรงมา เป็นขวานผ่าซาก คิดอย่างไรพูดอย่างนั้น ถึงแม้จะมีเจตนาดี แต่ว่าแสดงออกไม่เป็น ทำให้คนคิดว่าเย่อหยิ่ง ไม่น่าคบไม่อยากร่วมงานด้วย วิธีรับมือ คือ ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น พยายามมองส่วนดีและมองข้ามเรื่องขุ่นข้องหมองใจเล็กๆ น้อยๆ เพื่อสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน