Bangkok post> Jobs > Career guide

การสื่อสารดีและกล้าตัดสินใจ ก็ทำงานราบรื่น

  • 23 มิถุนายน 2559 เวลา 17:55 น.
  • รายงานข่าวโดย: Post Today | 1,216 viewed

 

     ไม่ว่าเราจะทำงานอยู่ในตำแหน่งหรือสาขาอาชีพใด การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพที่ดี ถือเป็นสิ่งที่สำคัญอันดับต้นๆ ที่จะทำหน้างานก้าวหน้าและสัมฤทธิผล ข้อคิดเห็นนี้สอดคล้องกับหนังสือเรื่อง "คิดอย่าง...เสือ" ที่เขียนโดย สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ที่เขียนไว้ในหนังสือ ว่า "สื่อสารดีมีชัยไปกว่าครึ่ง" และ "ตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ" ที่สุวรรณชัยเขียนไว้อย่างน่าคิดว่า..

     สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของความขัดแย้งทั้งหลายทั้งปวง นั่นคือ ปัญหาในการขาดการสื่อสารที่ดี และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วหัวหน้างานให้คำแนะนำที่ล่าช้า ก็อาจส่งผลเสียมากมาย หากไม่มีการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพมากพอ ในเรื่องการสื่อสารพวกเราก็คงยอมรับได้เช่นกันว่า แม้แต่ภายในบริษัทจะเล็กหรือใหญ่ของเราเอง ก็มีปัญหาของการสื่อสารด้วยเช่นกัน จึงอาจส่งผลกระทบให้กระบวนการทำงานและผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้

ดังเช่น Dr.Robert R.Aurner ผู้เขียนหนังสือ แอฟเฟคทีฟ คอมมูนิเคชั่น อิน บิสซิเนส ได้สรุปเทคนิคของการสื่อสารที่ดีออกมาได้ 10 ประการ คือ

1. ทำความเข้าใจกับความคิดของเราให้ชัดเจนเสียก่อนที่จะไปสื่อสารต่อให้ผู้อื่น
2. ตรวจสอบวัตถุประสงค์และจุดมุ่งหมายหลักในการสื่อสารก่อนทุกครั้ง
3. คำนึงถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อม กาลเทศะ และตัวบุคคลในการสื่อสารด้วย
4. มีการปรึกษาผู้รู้ในการทำการวางแผนเพื่อการสื่อสารนั้นๆ
5. ให้ระมัดระวังเรื่องน้ำเสียงของเรา เช่นเดียวกับเนื้อหาของข้อความที่ต้องการสื่อสาร
6. ให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้รับสารทันทีทุกครั้งที่มีโอกาส
7. ติดตามผลของการสื่อสารเสมอ
8. หลังผลของการสื่อสารได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
9. ภาษาท่าทางของเราต้องสนับสนุนเรื่องราวที่ต้องการสื่อสารด้วย
10. ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี อย่าพยายามให้ผู้อื่นเข้าใจเราฝ่ายเดียว แต่ต้องเข้าใจผู้อื่นด้วย

     แม้ข้อปฏิบัติต่างๆ เมื่ออ่านครบทั้ง 10 ประการแล้ว มนุษย์เงินเดือนแต่ละคนก็อาจคิดว่า เป็นเรื่องที่ไม่ยากที่จะคิดและปฏิบัติตามได้ แต่ทำไมเรื่องราวปัญหาในที่ทำงานระหว่างลูกน้องกับหัวหน้างาน หรือหัวหน้างานกับผู้ใต้บังคับบัญชาจึงเกิดขึ้นได้อยู่เสมอๆ ทั้งกับตนเองและคนรอบข้าง หากแต่ละคนรู้หน้าที่และข้อควรปฏิบัติ รู้ขอบข่ายหน้าที่การทำงานของตัวเอง เมื่อรับมอบหมายงานมาแล้วจากผู้บังคับบัญชา หากไม่เข้าใจให้สอบถาม ในทางกลับกัน หัวหน้างานเมื่อได้รับมอบหมายงานจากผู้บริหารงานแล้วก็ควรส่งถ่ายคำพูด ต้องพูดต้องสื่อสารให้ผู้รับคำสั่งเข้าใจตาม 10 ข้อ ที่แนะนำไว้ ผลของงานก็น่าจะออกมาสัมฤทธิผลที่ดีไม่มากก็น้อย หรือหากลูกน้องทำงานขั้นตอนไหนมีปัญหา ก็ให้พูดขอคำแนะนำจากหัวหน้างาน ซึ่งมีประสบการณ์มากกว่าได้ ปัญหาก็น่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ในเรื่องการตัดสินใจของผู้บังคัญบัญชาที่หลักแหลมและฉับไว ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้การสื่อสารที่ดีเลย

     ความสามารถในการตัดสินใจที่ดีเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนคนนั้นมีความรู้มากพอในเรื่องที่ต้องตัดสินใจในเรื่องนั้นๆ บวกกับความเข้าอกเข้าใจในสภาพแวดล้อมและประสบการณ์ที่ผ่านมา จะช่วยในการหาตัวเลือกก่อนการตัดสินใจได้ดีที่สุด เมื่อรู้ข้อมูลยังไม่เพียงพอ หรือรู้เขารู้เราไม่เพียงพอ ก็ต้องมีการจัดหาข้อมูลสนับสนุน เพื่อจะได้มั่นใจว่า การตัดสินใจที่กำลังเกิดขึ้นนั้นลดโอกาสที่จะผิดพลาดได้น้อยลงไปบ้าง ลดโอกาสเสี่ยงที่จะล้มเหลวลงไปได้บ้าง

ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าร้านอาหารจังก์ฟู้ดส์แห่งหนึ่ง ไปนั่งรับประทานอาหารในร้านบนชั้นสอง ซึ่งไม่ค่อยมีคนไปใช้บริการเท่าไหร่ ผ่านไป 1 ชั่วโมง ลูกค้าลงมาโวยวายว่า พนักงานดูแลสถานที่ไม่ดี เพราะมียุงมากัดที่ขาของเขาเป็นตุ่ม จะเรียกร้องพูดคุยกับผู้บริหารและตำหนิในเรื่องดังกล่าว หากไม่ยอมจะโพสต์ตำหนิในสื่อออนไลน์ พนักงานผู้น้อยไม่รู้จะรับมือกับลูกค้ารายนี้อย่างไร จึงรายงานไปที่ผู้จัดการร้านให้มาแก้ไขสถานการณ์ ผู้จัดการร้านที่เข้าใจทั้งตัวลูกค้าและสถานที่ดี จึงกล่าวคำขอโทษ และรับปากว่าจะดูแลกำจัดยุงให้หมดไป แล้วขอโทษด้วยการให้บัตรของขวัญจำนวน 200 บาท ให้มารับบริการได้ในครั้งต่อไป ก็ดูลูกค้าจะพอใจและไม่เรียกร้องอะไรอีก นี่แสดงถึงการมีการกล้าตัดสินใจที่ดี ทำให้องค์กรไม่เสียชื่อเสียงด้านการให้บริการ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องสำคัญของธุรกิจบริการเช่นเดียวกัน