Bangkok post> Jobs > Career guide

สถาปนิก...ทำอะไรได้บ้าง?

  • 17 มิถุนายน 2559 เวลา 17:16 น.
  • รายงานข่าวโดย: Post Today | 6,022 viewed

 

ด้วยเหตุที่วิชาการทางสถาปัตยกรรม ที่นักศึกษาสถาปัตย์ ต้องศึกษาเล่าเรียนมีเนื้อหากว้าง ทั้งการเรียนด้านการพัฒนาแนวความคิด การสอนความรู้ทางทฤษฎี และการฝึกฝนปฏิบัติที่มีทั้งมิติเชิงลึกและเชิงกว้าง สถาปนิกจึงมีความสามารถปรับเปลี่ยนและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่เล่าเรียนมาเป็นพื้นฐาน ในการทำงานได้เป็นอย่างดี

บทบาทการทำงานของสถาปนิกจึงมีรูปแบบหลากหลาย ทั้งในสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรู้ทางสถาปัตยกรรมโดยตรงหรือสัมพันธ์กันโดยอ้อม ตลอดจนยังพบเห็นสถาปนิกไปทำงานได้ดิบได้ดีในสาขาอาชีพที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกันกับความรู้ของตนเลยก็ตาม สถาปนิกจึงมักได้ยินคำกล่าว (เชิงประชดประชัน) จากคนในวิชาชีพอื่นๆ เสมอว่า "สถาปนิกไทยทำได้ดีทุกอย่าง ยกเว้นการเป็นสถาปนิก"

บทบาทวิชาชีพสถาปนิกในเมืองไทยสามารถแบ่งขอบเขตการทำงานได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ

     1.การทำงานในภาคธุรกิจเอกชน
     2.การทำงานในภาครัฐ
     3.การทำงานในภาคการศึกษา

การทำงานของสถาปนิกในภาคธุรกิจเอกชน

     ในประเทศไทยบทบาทการทำงานของสถาปนิกจะอยู่ในภาคเอกชนเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งสัดส่วนจำนวนของสถาปนิกในภาคเอกชน นี้จะมีปริมาณมากกว่าใน ภาครัฐ และภาคการศึกษา เนื่องจากการให้บริการของสถาปนิกจะเป็นไปในหลายรูปแบบที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรง หรือโดยอ้อมกับการออกแบบและก่อสร้างอาคาร รวมทั้งยังให้บริการได้ทั้งรูปแบบสถาปนิกอิสระ และในรูปแบบบริษัท ก็ได้ การทำงานดังกล่าวนี้สามารถแบ่งได้เป็น 7 ลักษณะคือ

     1. ธุรกิจด้านการออกแบบ ได้แก่ การให้บริการออกแบบอาคาร บ้านเรือน โดยครอบคลุมตั้งแต่ศึกษาและกำหนดโปรแกรมการ ใช้งาน ออกแบบและพัฒนาแบบ จนก่อสร้างแล้วเสร็จ บทบาท หน้าที่ความรับผิดชอบตามขั้นตอนจะมีความยากง่ายต่างกันตามขนาดและชนิดอาคาร งานในลักษณะนี้สถาปนิกสามารถทำได้ทั้งรูปแบบบริษัท และงานส่วนตัวที่เจ้าของว่าจ้างกับตัวสถาปนิกเอง
     2. ธุรกิจบริหารจัดการและ ควบคุม งานก่อสร้าง เป็นงานบริการอำนวยการและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้าง เชื่อมโยงความต้องการและประสานข้อขัดแย้งของผู้เกี่ยวข้องกับอาคารให้ลุล่วง ตลอดจนกำกับดูแลการทำงานของผู้รับเหมาก่อสร้างให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามแบบและหลักวิชาช่าง
     3. ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เป็นการให้บริการก่อสร้างแบบจาก ผู้ออกแบบ ให้เป็นจริงขึ้น ด้วยทักษะความรู้ด้านการวางแผน กำหนดวิธีและขั้นตอนการก่อสร้าง ให้ได้งานที่มีคุณภาพด้วยความประหยัดและตรงต่อเวลา
     4. ธุรกิจจัดการอาคารและบริหารจัดการกายภาพ เป็นบทบาทการทำงานที่เริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้นในปัจจุบัน โดยทำหน้าที่ดูแลอาคารสถานที่ของหน่วยงาน ตรวจสอบอาคาร บริหารจัดการ และวางแผนการใช้งานอาคารให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
     5. ธุรกิจบริการวัสดุและเทคนิคก่อสร้าง บทบาทนี้จะเป็นผู้ตอบปัญหาและตอบสนองความต้องการด้านเทคนิคก่อสร้างและวัสดุสำหรับสถาปนิกผู้ออกแบบและประชาชนทั่วไป รวมทั้งเป็น ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้คำแนะนำ เปรียบเทียบข้อดี ข้อเสียของการเลือกใช้วัสดุ เปรียบเทียบแบบรุ่น และรวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพของวัสดุก่อสร้าง
     6. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นการทำงานในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนและการก่อสร้าง โดยสถาปนิกจะมีส่วนร่วมตั้งแต่การสร้างสรรค์โครงการ การศึกษาความเป็นไปได้โครงการ การบริหารโครงการให้เป็นรูปธรรม ตลอดจนการอำนวยการและ นำเสนอแผนการก่อสร้าง กำกับดูแลการก่อสร้างให้มีคุณภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
     7. ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในภาคธุรกิจอื่นๆ สถาปนิกยังปรับตัวให้เข้ากับการทำงานในบทบาทอื่นๆ ได้อย่างกว้างขวาง โดย บทบาทหน้าที่บางประเด็นสามารถนำไปปรับใช้ในงานทั้งในแง่ ภาพรวมและส่วนรายละเอียดได้ เช่น ธุรกิจการเงินและธนาคาร การประกันภัย ภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่

การทำงานของสถาปนิกในภาครัฐ

     บทบาทการทำงานของสถาปนิกในภาครัฐเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการพัฒนาระบบบริหารจัดการประเทศขึ้นอย่างมากมาย พร้อมกับการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานที่ ทำงานเกี่ยวข้องกับการออกแบบ กำกับดูแลก่อสร้างและยังคงดำเนินงานมาจนปัจจุบัน เช่น กรมโยธาธิการ กรมศิลปากร จนมาถึงการขยายตัวของกระทรวง ทบวง แม้แต่ รัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย การเคหะแห่งชาติ ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ จนในปัจจุบันหน่วยงานเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความต้องการสถาปนิกมาตอบสนองความต้องการออกแบบ ก่อสร้างอาคาร และรวมไปถึงการกำกับดูแลมาตรฐานอาคาร ในหน่วยงานของตนเองอยู่ตลอดเวลา

     นอกจากนี้ บทบาทสำคัญอีกประการในปัจจุบันคือการกำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคาร ออกใบอนุญาตก่อสร้าง กำกับควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งสถาปนิกเหล่านี้จะทำงานในหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เทศบาล และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น
การทำงานของสถาปนิกในภาคการศึกษา

บทบาทการทำงานของสถาปนิกในภาคการศึกษา

     คือ การจัดการเรียนการสอน เพื่อผลิตบัณฑิตทางสถาปัตยกรรมหรือพูดง่ายๆ ก็คือเป็นครูสอนนักศึกษา (เตรียม) สถาปนิกในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ทั้งหลายนั่นเอง บทบาทของสถาปนิกรูปแบบนี้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนนับตั้งแต่การเปิดการเรียนการสอนสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อกว่า 70 ปีที่ผ่านมา

     ในเบื้องต้นของการจัดการศึกษา ครู อาจารย์สถาปัตยกรรมส่วนใหญ่เป็นผู้ที่จบการศึกษาสถาปัตยกรรมมาจากต่างประเทศ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศในทวีปยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นต้น ท่านเหล่านั้นได้ประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่ได้จากต่างประเทศเข้ากับบริบทของบ้านเรา จนทำให้การเรียนการสอนสถาปัตยกรรมในประเทศไทยก้าวหน้าและพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง จวบจนปัจจุบันรูปแบบการทำงานหลักของสถาปนิกในภาคการศึกษาสามารถจำแนกได้ 5 ลักษณะคือ

     - การเรียนการสอนและการผลิตบัณฑิตสถาปัตยกรรม
     - การเรียนรู้การปฏิบัติวิชาชีพสถาปนิกเพื่อนำทักษะประสบการณ์ถ่ายทอดสู่ผู้เรียน
     - การวิจัยค้นคว้าแสวงหาองค์ความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ด้านสถาปัตยกรรม
     - การบริการวิชาการถ่ายทอดความรู้สู่วิชาชีพ สังคม และประเทศ
     - การทำนุบำรุง และสืบสานจรรโลงศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศให้ยั่งยืนต่อไป