พฤติกรรมช้ำใจที่ฉุดน้องใหม่ไม่ให้ผ่านโปร
- 1 กันยายน 2560 เวลา 15:39 น.
- รายงานข่าวโดย: นสพ. M2F ฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2560 | 3,038 viewed
หลังจากฟาดฟันกับผู้ร่วมสมัครงานจนได้รับเลือกให้เป็นคนที่ใช่และมีโอกาสร่วมงานกับองค์กร ก็เป็นแค่จุดเริ่มต้น เพราะน้องใหม่ยังต้องเจอกับอีกช่วงเวลาวัดใจ นั่นก็คือระยะทดลองงาน หรือ Probation วันนี้เรามี 7 พฤติกรรม ที่ส่งผลให้น้องใหม่ไม่ผ่านโปรมาบอก
1. ไม่ทุ่มเท ขาดความรับผิดชอบ
แน่นอนว่าคนที่เคยสัมภาษณ์เรา ต้องจับตามองว่าเราจะทำได้ตามที่เคยพูดหรือไม่ หากทำได้ก็ผ่านฉลุย แต่หากมัวตื่นเต้นกับตำแหน่งจนไม่มีความเป็นมืออาชีพแล้วละก็อาจตกม้าตาย วิธีแก้คือทบทวนดูว่าบริษัทคาดหวังอะไรจากตำแหน่งงานนั้นๆ เข้าใจขอบข่ายหน้าที่และความรับผิดชอบ และเรียนรู้ให้เร็วที่สุด พร้อมสังเกตแนวทางการทำงานของเพื่อนร่วมงาน
2. ทำงานพลาด ไม่พัฒนาตัวเอง
การทำงานผิดพลาดย่อมไม่เป็นผลดีต่ออนาคตอย่างแน่นอน แต่ด้วยความที่เป็นน้องใหม่ พี่ๆ ในที่ทำงานก็มักจะเข้าใจและให้อภัยได้ในความผิดครั้งแรก แต่หากผิดพลาดเรื่องเดิมซ้ำๆ ย่อมไม่ดีแน่ แปลว่าตัวเราอาจไม่มีสมาธิ หรือพัฒนาปรับปรุงตัวเองไม่ได้ ทางที่ดีเมื่อได้รับมอบหมายงานมา ให้หาข้อมูลและขอคำปรึกษาจากรุ่นพี่ที่เคยทำงานนั้นๆ พร้อมจดบันทึก หมั่นฝึกฝนและพัฒนาตัวเองให้เรียนรู้งานได้ไว
3. ไม่ตรงเวลา ไร้ระเบียบ
พฤติกรรมบางอย่างที่น้องใหม่ไม่คิดอะไรมาก อย่างการเข้างานสาย หรือขอเวลากินอาหารเช้าแบบไม่พร้อมทำงานสักที ย่อมสะท้อนวินัยในตัวตนให้คนในที่ทำงานได้เห็น โดยปกติแล้วช่วงทดลองงานไม่ควรขาด ลา มาสาย หากไม่จำเป็น เพราะคนที่ไม่ตรงต่อเวลามักจะโดนเหมารวมว่าเป็นคนไม่มีความรับผิดชอบ ถึงแม้จะเป็นคนเก่งก็ตาม แต่หากขาดความเป็นมืออาชีพแค่เวลายังรักษาไม่ได้ แล้วจะรับผิดชอบงานได้อย่างไร
4. ติดแชทเล่นไลน์
เจนวายกับสมาร์ทโฟนดูเป็นอะไรที่แยกจากกันไม่ออก แต่เมื่อก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานก็ถึงเวลาดึงความเป็นมืออาชีพออกมา รู้จักแบ่งเวลาโดยไม่เบียดบังเวลางานหรือขาดสมาธิจนเกิดข้อผิดพลาด ที่พลาดกันมากหน่อยคงเป็นเรื่องกาลเทศะ ลืมปิดเสียงแชทจนรบกวนสมาธิผู้อื่น
5. วิพากษ์วิจารณ์ดุเดือด
คิดทุกครั้งก่อนไลค์ แชร์ หรือคอมเม้นท์บนโลกออนไลน์ อย่าเอาความคึกคะนองเป็นที่ตั้ง อาจได้ไม่คุ้มเสีย บางคนอาจเสียงานดีๆ จากความเห็นส่วนตัวที่เผยแพร่อยู่ในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นการวิจารณ์เพื่อนร่วมงาน พูดให้ร้ายองค์กร หัวหน้างาน นำข้อมูลลับขององค์กรมาเปิดเผย หรือแสดงออกถึงทัศนคติด้านลบ ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงการแสดงออกที่ไม่สร้างสรรค์ในทุกกรณี หากไม่อยากตกงาน
6. สื่อสารผิดพลาด ไม่ถูกกาลเทศะ
การสื่อสารโดยเฉพาะการเขียน ดูเหมือนจะเป็นจุดอ่อนของเด็กจบใหม่ ไม่ว่าอีเมล หรือการเขียนรายงานต่างๆ ต้องใส่ใจเกี่ยวกับการเลือกใช้คำ ระดับภาษา ตัวสะกด ควรตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่งข้อมูลทุกครั้ง พร้อมไม่ลืมใส่หัวเรื่องที่สั้น กระชับ ได้ใจความ ไม่ลืมแนบไฟล์และรายละเอียดติดต่อกลับ เพราะทักษะการสื่อสารที่ดีคือหัวใจสำคัญของการติดต่อประสานงานที่มีประสิทธิภาพ
7. ไม่มีมนุษยสัมพันธ์
เด็กรุ่นใหม่มักมีความเป็นตัวของตัวเอง เมื่อต้องร่วมงานกับคนต่างวัยอาจเกิดปัญหาช่องว่างระหว่างวัย ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันและส่งผลต่อการทำงานร่วมกันได้ ควรวางตัวให้เหมาะสม ดูแลบุคลิกภาพและการแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย ควบคู่ไปกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน มีสัมมาคารวะ และสร้างมิตรไว้ดีกว่าสร้างศัตรู