กระดูกสันหลังเสื่อม ภาวะเสี่ยงในวัยทำงาน
- 5 กันยายน 2560 เวลา 15:08 น.
- รายงานข่าวโดย: นสพ. M2F ฉบับวันที่ 12 มิถุนายน 2558 | 1,638 viewed
ปัจจุบันหนุ่มๆ สาวๆ วัยทำงานที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมมากขึ้น นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่า ภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมเกิดจากสาเหตุสำคัญ คือ การสึกหรอตามอายุการใช้งาน เช่น การทำกิจกรรมซ้ำๆ เป็นเวลานานโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ การยกของหนัก และพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ซึ่งมีผลทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงบริเวณหมอนรองกระดูกน้อยลง
นอกจากนี้ วัยที่สูงขึ้นก็ยิ่งทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังซึ่งทำหน้าที่รับน้ำหนักตัวมีการเสื่อมสภาพตามการใช้งาน จนเกิดการทรุดตัวของโครงสร้างกระดูกสันหลัง ทำให้ร่างกายตอบสนองโดยการสร้างกระดูกงอกหรือหินปูนขึ้นมา เพื่อต้านการทรุดตัวดังกล่าว ซึ่งกระดูกงอกที่ร่างกายสร้างขึ้นมาใหม่ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่บางรายเกิดกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทและทำให้เกิดอาการปวดร้าวไปตามเส้นประสาท ทำให้ปวดขา ชาขา ผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังเสื่อมและทรุดพบว่า ถ้ามีการทรุดตัวมากขึ้นจะทำให้เกิดกระดูกสันหลังคด หรือบางรายอาจทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อนได้
สำหรับอาการที่พบบ่อย คือ ปวดหลังเป็นๆ หายๆ เป็นเวลานาน มีอาการปวดขาตั้งแต่บริเวณสะโพกร้าวไปถึงบริเวณน่อง เท้า ซึ่งจะปวดมากเวลาเดิน ทำให้เดินได้ไม่ไกลต้องหยุดเดินเป็นระยะๆ อาการปวดหลังร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างถือเป็นอาการเด่นของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ถ้าทิ้งไว้นานเส้นประสาทจะทำงานได้น้อยลง อาการชาและอ่อนแรงของขาซีกนั้นจะเริ่มเด่นชัดขึ้น
เมื่อมีอาการปวดหลังและร้าวลงขาควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษา ส่วนใหญ่โรคนี้สามารถรักษาหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด แพทย์จะจ่ายยาแก้ปวดเพื่อช่วยบรรเทาอาการร่วมกับให้ยาลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นซึ่งจะช่วยลดการอักเสบที่เกิดขึ้นรอบๆ เส้นประสาท หรือหมอนรองกระดูกสันหลัง ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น ชารอบก้น อั้นอุจจาระและปัสสาวะไม่อยู่ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่พบได้น้อย จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน แพทย์จะผ่าตัดเพื่อตัดเอาส่วนที่กดทับเส้นประสาทออกร่วมกับการทำกายภาพบำบัดทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น
แนวทางป้องกันโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท คือ การใช้กล้ามเนื้อบริเวณหลังในชีวิตประจำวันอย่างถูกวิธี หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ อย่านั่งอยู่กับที่ติดต่อกันนานเกิน 1 ชม. ควรเปลี่ยนอิริยาบถด้วยการลุก ยืน เดิน หรือออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบๆ หลังและหน้าท้องให้แข็งแรงสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ลดการทำงานของกล้ามเนื้อหลังลงโดยการปรับท่านั่งให้หลังตรง หรือเดินตัวตรง ลดน้ำหนักสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักที่มากเกินไป เนื่องจากหลังจะต้องเป็นส่วนที่รับน้ำหนักตัวของคนเรา เมื่อมีน้ำหนักตัวมากเกินไปการทำงานของกล้ามเนื้อหลังก็จะมากไปด้วย รวมทั้งงดสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กระดูกพรุน และหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมเร็วขึ้น