Bangkok post> Jobs > Career guide

5 ข้อควรเขียนในเรซูเม่

  • 23 มกราคม 2560 เวลา 15:44 น.
  • รายงานข่าวโดย: Post Today | 1 viewed

 

     การอธิบายถึงความสำคัญของตำแหน่งงานในเรซูเมของคุณเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเทคนิค เพราะถ้าเขียนแบบส่งๆ ไป ยิ่งเป็นตำแหน่งในระดับปฏิบัติการ ถ้าเขียนไม่ดี คุณอาจแสดงให้บริษัทเห็นว่าจริงๆ แล้วตำแหน่งมดงานเล็กๆ อย่างคุณ แทบจะไม่มีผลต่อภาพรวมความสำเร็จของบริษัทเลยแม้แต่น้อย แต่จะทำอย่างไรให้ตำแหน่งงานเล็กๆ ของคุณดูมีคุณค่าในเรซูเม ลองใส่รายละเอียด 5 ข้อนี้

1. งานฉันก็เป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญของบริษัทนะ

เชื่อเถอะว่า สุดท้ายการที่บริษัทจะตัดสินใจรับคุณเข้าทำงานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าผลงานของคุณจะช่วยทำเงินให้บริษัทได้แค่ไหน ดังนั้นหน้าที่ของคุณคือทำให้บริษัทเห็นว่างานของคุณจะมีส่วนช่วยให้บริษัทบรรลุเป้าหมายนี้ได้ ยกตัวอย่าง คุณทำงานในส่วนบริการลูกค้า ทุกวันคุณต้องตอบ-แก้ปัญหามากมาย พร้อมติดตามผลการร้องเรียนของลูกค้า คุณต้องรู้ว่างานของคุณไม่เพียงทำให้ลูกค้ามีความสุข แต่การที่คุณช่วยลดความไม่พอใจของลูกค้า เป็นการป้องกันไม่ให้บริษัทเสียลูกค้าที่จะมาซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ซึ่งนั่นหมายถึงเม็ดเงินของบริษัท

2. อย่ามองข้ามคุณความดีเล็กๆน้อยๆ

ทุกคนต้องมีเรื่องราวความสำเร็จที่น่าจดจำ ยกตัวอย่าง ลูกค้าส่งจดหมายแสดงความพึงพอใจที่ได้รับความช่วยเหลือของคุณมาให้ หรือ ลูกค้าชื่นชมคุณผ่านเจ้านาย เพื่อนๆ ยกย่องให้คุณเป็นพนักงานดีเด่น เรื่องราวความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ สามารถระบุลงไปในเรซูเมได้ ในกรณีที่คุณอาจไม่มีเกียรติประวัติที่ดูเป็นทางการมาอ้างอิง

3. อ้างอิงถึงคนที่เคยร่วมงานด้วย

ไม่มีงานใดที่คุณทำสำเร็จได้โดยฉายเดี่ยว แม้แต่ในตำแหน่งงานเล็ก คุณก็ต้องร่วมงานกับคนจำนวนมากที่อยู่ในระดับปฏิบัติการเดียวกัน อย่าลืมระบุถึงพวกเขาในเรซูเม เพื่อแสดงถึงความสามารถในการทำงานเป็นทีมเวิร์กของคุณ เริ่มจากคนที่คุณต้องอาศัยเขาในการทำงานให้สำเร็จ และคนที่ต้องอาศัยคุณในการทำงานให้ลุล่วง จากนั้นลองทำกราฟเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในการทำงานของคุณกับคนเหล่านั้น อย่าลืมว่าแทนที่จะใส่ชื่อเพื่อนร่วมงานของคุณให้ใส่ตำแหน่งงานของพวกเขาแทน

4. เจ้านายเคยบอกฉันว่า...

หลายคนอาจมองข้ามว่า คุณสามารถใช้คำชื่นชมจากหัวหน้า หรือฟีดแบ็กการทำงานของคุณจากหัวหน้างานมาใส่ใน เรซูเมได้ เพราะนี่คือแหล่งขุมทรัพย์ที่จะบ่งบอกศักยภาพในการทำงานของคุณ เช่น ใบประเมินผลการทำงานประจำปีของคุณ อีเมลที่หัวหน้าชื่นชมคุณก็ได้เช่นกัน โดยในเรซูเม คุณอาจแยกเป็นหัวข้อว่า เคยได้รับการชมเชยหรือเป็นที่จดจำของหัวหน้าในเรื่องอะไร

5. ระบุผลงานของคุณเป็นจำนวนชิ้นงาน

ถึงงานของคุณจะไม่สามารถบ่งบอกได้ว่า เดือนนี้ทำรายได้ให้บริษัทเท่าไหร่ ช่วยลดค่าใช้จ่ายของบริษัทไปแค่ไหน แต่คุณสามารถลงรายละเอียดเกี่ยวกับงานที่ทำในเรื่องอื่นๆ ได้ เช่น คุณเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ คุณอาจจะระบุถึงปริมาณชิ้นงานที่คุณตรวจแก้ไขในแต่ละสัปดาห์ เป็นต้น