เทคโนโลยี เปลี่ยนวิถีคนทำงาน
- 23 ธันวาคม 2559 เวลา 17:06 น.
- รายงานข่าวโดย: นสพ. M2F ฉบับวันที่ 23 ธันวาคม 2559 | 1 viewed
นับจากนี้ไปอีกไม่นาน รูปแบบการทำงานของมนุษย์จะเปลี่ยนไปโดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว หลายบริษัทเริ่มปรับตัวนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับแรงงานมนุษย์มากขึ้น
ในโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูในรัฐบาวาเรีมนีซึ่งมีพนักงานประกอบชิ้นส่วนราว 17,500 คน อุปกรณ์อ่านบาร์โค้ดแบบมือถือถูกแทนที่ด้วยถุงมืออัจฉริยะที่สามารถสแกนวัตถุได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่ผู้สวมบีบนิ้วโป้งกับนิ้วชี้เข้าหากัน และรายงานผลผ่านจอแอลซีดีเล็กๆ ด้านบน โดยข้อมูลที่ถุงมืออัจฉริยะสแกนได้จะถูกส่งไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์กลางของบริษัททันที
พนักงานของบีเอ็มดับเบิลยูสามารถถือชิ้นส่วนรถยนต์ด้วยมือทั้งสองข้างในขณะที่ระบบจะสแกนบาร์โค้ดอย่างรวดเร็ว หากวัดความเร็วแบบแยกเป็นรายชิ้นอาจจะทำงานได้เร็วกว่าอุปกรณ์แบบเดิมเพียงเล็กน้อย ทว่า หากมองภาพรวมแล้ว ถุงมือนี้ช่วยบริษัทรถยนต์หรูประหยัดเวลาการทำงานได้ถึง 4,000 นาที หรือ 66 ชม.ต่อวัน
โธมัส กีร์ชเนอร์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง ProGlove บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีในเมืองมิวนิกของเยอรมนี เพิ่งจะเปิดตัว Mark ถุงมืออัจฉริยะเมื่อเดือนที่แล้ว ถุงมือนี้จะติดตั้งสแกนเนอร์และแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้นาน 8 ชม. โดยเชื่อมต่อเข้ากับระบบอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่แล้วได้เลยโดยไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม สนนราคาชิ้นละ 1,300 ยูโร หรือราว 48,891 บาท
นอกจากการแข่งขันด้านเวลาในการจัดเก็บข้อมูลแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนธุรกิจคือ ทรัพยากรมนุษย์ สถิติในสหรัฐพบว่าการลาป่วยของพนักงานทำให้นายจ้างสูญเสียรายได้ราว 226,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (ราว 8.1 ล้านล้านบาท) สาเหตุอันดับสองรองจากการเป็นไข้หวัดคือ ปวดหลังเนื่องจากการยกของผิดวิธี
บริษัท Kinetic ในนิวยอร์ก ได้คิดค้นเซ็นเซอร์ตรวจจับท่าทางการยกสิ่งของของพนักงานพร้อมทั้งเตือนให้ปรับเปลี่ยนท่วงท่าทันที เช่น ให้งอเข่ามากขึ้น หากมีการยกที่อาจเป็นอันตรายต่อหลัง นอกจากนี้ เซ็นเซอร์ที่เหน็บไว้บริเวณเอวหรือเข็มขัดของผู้ใช้จะให้คำแนะนำในการปรับสภาพสถานที่ทำงานให้เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ
การทดสอบระบบเซ็นเซอร์เมื่อเร็วๆ นี้ที่บริษัทโลจิสติกส์ในรัฐเทกซัสของสหรัฐ พบว่า เข็มขัดไฮเทคของ Kinetic ช่วยลดอัตราความเสี่ยงที่อาจจะเกิดความเสียหายหรืออุบัติเหตุลงได้ 84%
ด้าน โบอิ้ง บริษัทผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลก ซึ่งกำลังทดลองใช้ Google Glass แว่นตาอัจฉริยะของ Google เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่เทคนิคเดินสายไฟในตัวเครื่องบินซึ่งมีความซับซ้อนและต้องอาศัยการดูแผนที่จากแล็ปท็อปหรือแท็บเล็ต แต่ด้วยความช่วยเหลือของแอพพลิเคชั่น APX Skylight เจ้าหน้าที่สามารถอ่านข้อมูลในแผนที่จากจอแสดงผลแบบสวมศีรษะโดยที่มือทั้งสองข้างยังว่างและไม่ต้องละสายตาจากการเชื่อมต่อสายไฟไปมองหน้าจอแล็ปท็อป ซึ่งแอพพลิเคชั่นนี้ช่วยลดเวลาการประกอบเครื่องบินลงได้ 25% รวมทั้งลดความผิดพลาดลงอย่างเห็นได้ชัด