Bangkok post> Jobs > Career guide

แต่งกับงาน

  • 16 ธันวาคม 2559 เวลา 17:30 น.
  • รายงานข่าวโดย: Post Today | 1 viewed

     เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวน่าสนใจจากเกาหลีใต้ว่า คนเกาหลีรุ่นใหม่แต่งงานกันน้อยลง และทำให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ อัตราเด็กเกิดใหม่ทำสถิติต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติในปี 2000 เป็นต้นมา

     การไม่แต่งงานหรือแต่งงานแล้วไม่อยากมีลูกนั้น เป็นสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศแถบเอเชีย เช่น จีน จนต้องมีการเปิดตลาดนัดหาคู่ในเซี่ยงไฮ้ หรือมีจับคู่กัน 2 ฝั่งระหว่างจีนกับฮ่องกงมากขึ้น เนื่องจากสังคมชนชั้นกลางที่ขยายตัวและผู้หญิงมีการศึกษาสูงขึ้น ทำให้ผู้หญิงหลายคนเลือกแต่งกับงานมากกว่า

     ทว่าที่เกาหลีใต้นั้น ปัญหานี้ถูกเชื่อมโยงกับการจำนนต่อภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมองค์กรการทำงานมากกว่า คือ ไม่ใช่ว่าคนหนุ่มสาวเกาหลีใต้ไม่อยากแต่งงานมีลูกกัน หรือมีปัญหาความไม่สมดุลระหว่างเพศชาย-หญิง แต่เป็นเพราะภาวะปากท้องและจารีตในสังคมการทำงานที่ไม่เอื้ออำนวยมากกว่า

     ปัจจุบัน อัตราการว่างงานในกลุ่มคนอายุ 15-29 ปี สูงถึง 9.2% ซึ่งมากกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับอัตราว่างงานโดยเฉลี่ยของคนทุกวัยทั่วประเทศ ขณะที่ตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของเกาหลีใต้ก็มากสุดเป็นอันดับ 1 ในเอเชียเช่นกัน 

     สถาบันวิจัยเศรษฐกิจเกาหลี มองเรื่องนี้ว่า นโยบายแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำในช่วงที่ผ่านมาโฟกัสผิดจุด คือมุ่งสนับสนุนให้ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วมีลูกมากขึ้น ทั้งที่ปัญหาแท้จริงก็คือ คนหนุ่มสาวเริ่มหางานทำกันไม่ได้ จนลังเลที่จะแต่งงานหรือมีลูก

     นอกจากภาวะปากท้องแล้ว ผู้หญิงเกาหลีใต้ยังรู้สึกว่าการมีลูก จะยิ่งเป็นข้อจำกัดของการเติบโตในที่ทำงานเพิ่มขึ้นอีก จากเดิมที่ผู้หญิงมีโอกาสเติบโตในที่ทำงานหรือขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารน้อยกว่าผู้ชายอยู่แล้ว ส่วนผู้ชายเองนั้นก็ติดกับวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องทุ่มเวลาให้งานเป็นส่วนใหญ่ ห้ามกลับก่อนหัวหน้า และยังต้องไปสังสรรค์ดื่มเหล้าเป็นประจำ ทำให้มีเวลาอยู่กับครอบครัวน้อย ซึ่งมีผลวิจัยจากโออีซีดีว่า ผู้ชายเกาหลีใต้ช่วยทำงานบ้านน้อยที่สุดในกลุ่ม 35 ประเทศโออีซีดี

     ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ออกนโยบายสนับสนุนให้คนทำงานกลับบ้านได้ทันทีเมื่อถึงเวลาโดยไม่ต้องขอหัวหน้า เพื่อหวังสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ๆ ขึ้นมา แต่สำหรับคนทำงานส่วนใหญ่กลับมองว่า เป็นนโยบายที่ไร้เดียงสาและไม่มีใครทำกัน เพราะใครจะกล้าแหกธรรมเนียมในขณะที่ตลาดงานยังตึงตัวแบบนี้  

     ที่ผ่านมา บางประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ต่างนำร่องออกนโยบายเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของประชากรมาทุกวิถีทาง ตั้งแต่ขั้นออกเดทไปจนถึงมีลูก แต่การเปลี่ยนแปลงในเชิงภูมิศาสตร์ประชากรเช่นนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่มีหลายปัจจัยผสมผสานกัน ไม่ใช่แค่ปัจจัยเศรษฐกิจอย่างเดียว การแก้ปัญหาจึงเป็นไปได้ยาก และทำให้ต้องหันมาตั้งรับภาวะสังคมผู้สูงอายุกันแทน

     อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านของปัญหาอัตราการเกิดต่ำและสังคมผู้สูงอายุที่จ่อหน้าบ้าน ก็ทำให้ประเทศที่ตั้งรับได้เร็วสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อทดแทนได้ เช่น ญี่ปุ่น ที่มีการตื่นตัวพัฒนาเทคโนโลยีรองรับหลายด้านตั้งแต่ยานยนต์ไปจนถึงหุ่นยนต์ เช่นเดียวกับภาคการผลิตที่ต้องมุ่งไปสู่โรบอทมากขึ้นเพื่อทดแทนศักยภาพการผลิตจากมนุษย์ที่จะลดลง

     แต่งกับงานจึงเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติที่มองข้ามไม่ได้ค่ะ