Bangkok post> Jobs > Career guide

เปลี่ยนเรื่องเมาท์ๆ ในที่ทำงาน ให้เป็นโอกาสก้าวหน้า

  • 6 ธันวาคม 2559 เวลา 17:08 น.
  • รายงานข่าวโดย: Post Today | 1 viewed

 

     คนทำงานส่วนใหญ่มักจะถูกสอนว่าการนินทาหรือข่าวลือในที่ทำงานเป็นสิ่งที่ไม่ดีนัก แต่จริงๆ แล้ว ทุกอย่างล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แม้แต่เรื่องเมาท์ๆ กันในที่ทำงาน ถ้าเรารู้จักจัดการ ก็สามารถเป็นประโยชน์ต่อการทำงานและความก้าวหน้าของเรา โดยไม่ถูกตำหนิว่าเป็นพวกขาเมาท์ได้เหมือนกัน

1. เรื่องเมาท์ทุกเรื่องอาจไม่ใช่เรื่องแย่

แต่บางเรื่องก็แย่จริงๆ
- การเก็บเรื่องของคนอื่นมานินทาในทางที่ไม่ดี เช่น เรื่องความสัมพันธ์ของคนในที่ทำงาน หรือเรื่องฉาวๆ เกี่ยวกับตำแหน่ง เป็นเรื่องที่ควรมองข้ามไปซะ แต่ถ้ามีใครพูดถึงเรื่องที่เจ้านายของคุณชอบหรือไม่ชอบทำอะไร เช่น เขาไม่ชอบคนประเภทไหน หรือชอบให้ลูกน้องปฏิบัติตัวเช่นไร เขาชอบทำกิจกรรมยามว่างหรือมีงานอดิเรกที่ไม่ค่อยเหมือนใคร นั่นล่ะ ที่คุณควรจะเก็บรายละเอียดและอาจนำมาใช้ปรับปรุงตัวเองและการทำงานให้เข้าตาเจ้านายได้

2. เมื่อมีคนเมาท์อะไร

คุณควรเป็นผู้ฟังมากกว่าคนเล่า
- เรื่องนี้เข้าใจกันได้ไม่ยาก การเป็นคนมีเรื่องมานินทาบ่อยๆ อาจทำให้คุณกลายเป็นที่นิยมในหมู่เพื่อนฝูง แต่ในสังคมการทำงาน คุณคงไม่อยากโดนใครๆ ตั้งฉายาว่าเป็น "คนช่างเมาท์หรือชอบนินทา" แน่นอน และอาจจะเลวร้ายยิ่งกว่าหากเรื่องในออฟฟิศถูกแพร่กระจายออกไปข้างนอกและส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของบริษัท ดังนั้น ถ้าหลีกเลี่ยงการเมาท์ไม่ได้ ก็จงเป็นเพียงผู้ฟัง แต่อย่าออกความเห็นให้มากนัก

3. พิสูจน์ให้เห็นจริงเรื่องข่าวลือก่อนจะตัดสินใจอะไร

- บางครั้งบางคราวอาจจะมีข่าวลือว่ามีพนักงานบางคนกำลังจะลาออก และเป็นตำแหน่งที่คุณหมายมั่นปั้นมือเอาไว้ซะด้วย แต่หากเขายังไม่ได้ลาออกและบอกให้คนส่วนใหญ่ได้รับรู้ ก็อย่าเพิ่งรีบไปป่าวประกาศหรือรีบเสนอตัวออกไปก่อน เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงหรือข่าวลือไม่เป็นความจริง คุณก็จะเสียหน้าและกลายเป็นคนช่างเมาท์ไปในที่สุด ดังนั้น หากได้ยินเสียงร่ำลือมา ก็ควรจะลองหาวิธีเลียบๆ เคียงๆ ถามคนที่น่าจะรู้แน่นอนดู เช่น หากสนิทกับคนที่เป็นข่าว ก็อาจจะลองเปรยๆ ถามดูก็ได้ว่าเขาจะอยากบอกเราไหม หรือบางครั้งอาจจะลองคุยกับฝ่ายบุคคลก็ได้ว่าเราสนใจตำแหน่งนั้น (แต่ไม่ต้องบอกว่าเรารู้ว่าจะมีคนออก) หากมีโอกาสก็ให้บอกด้วย เขาก็อาจจะไกด์เราได้ว่าจะมีคนออกหรือให้เตรียมตัวอย่างไร

4. ระวังเรื่องหรือข้อมูลที่คุณจะแชร์กับคนอื่น

- หลายครั้งที่เราหลีกเลี่ยงวงเมาท์ไม่ได้ เราอาจต้องเมาท์เพื่อแลกเปลี่ยนกับข้อมูลอื่นๆ ที่อาจจะเป็นประโยชน์ แต่คุณก็ควรเลือกพูดในประเด็นที่มีหลายๆ คนรู้จะดีกว่าเป็นสิ่งที่คุณรู้คนเดียว เพราะหากมีเรื่องราวขึ้นมาจะได้ไม่สามารถสาวมาถึงคุณคนเดียวได้ และอย่าเอาข้อมูลที่เป็นความลับขององค์กรหรือบริษัท หรือคนที่ไว้ใจในตัวคุณไปพูดเด็ดขาด ทางที่ดีอย่าเอาเรื่องส่วนตัวของคนในที่ทำงานไปเมาท์จะดีที่สุด

5. อย่าเมาท์ใครเป็นลายลักษณ์อักษร

- สมัยนี้ ช่องทางการสื่อสารเปิดโอกาสให้เราเมาท์กันได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็น SMS อีเมล เว็บบอร์ดหรือโซเชียล เน็ตเวิร์กต่างๆ แต่ทางที่ดีคุณไม่ควรเสี่ยงกับการเมาท์หรือนินทาใครแบบเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะหากมีคนไม่หวังดี เอาไปเผยแพร่ต่อ สิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นหลักฐานมัดตัวคุณเองแบบเถียงไม่ออก และเราก็เคยเห็นตัวอย่างของคนดังทั้งหลายที่กลายเป็นข่าวมาแล้ว