พระปรีชาสามารถด้านงานประดิษฐ์และประติมากรรม
- 25 ตุลาคม 2559 เวลา 12:42 น.
- รายงานข่าวโดย: นสพ. M2F ฉบับวันที่ 25 ตุลาคม 2559 | 4,612 viewed
พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในงานทรงประดิษฐ์ มีพื้นฐานมาจาก "การเล่น" สมัยทรงพระเยาว์ เพราะหากอยากได้ของเล่นอะไรต้องทรงเก็บสตางค์ซื้อเอง หรือทรงประดิษฐ์เอง ทรงเคยสะสมเงินจากค่าขนมกับพระเชษฐาเพื่อซื้อชิ้นส่วนวิทยุทีละชิ้นๆ แล้วนำมาประกอบเป็นวิทยุเอง แล้วแบ่งกันฟัง เมื่อเจริญพระชนมพรรษา ทรงสนพระราชหฤทัยในกีฬาเรือใบ ก็โปรดต่อเรือใบด้วยพระองค์เอง ซึ่งความสนพระราชหฤทัยในงานประดิษฐ์นี้เอง ทำให้มีผลงานที่ทรงคิดประดิษฐ์เป็นประโยชน์กับเหล่าปวงพสกนิกรมากมาย
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (สกว.) เสนอ โดยกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันนักประดิษฐ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติคุณ และเพื่อให้ประชาชนเจริญรอยตามเบื้องยุคลบาท รวมทั้งปลูกฝัง เสริมสร้าง และส่งเสริม เยาวชนไทยให้มีทุนทางสังคมของความเป็นนักประดิษฐ์คิดค้น พัฒนา และส่งเสริมนักประดิษฐ์ ให้ร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ความเจริญและความมั่นคงของประเทศชาติ
สำหรับผลงานด้านสิทธิบัตรในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ส่วนหนึ่งที่ได้รับการถวายการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร 8 ฉบับ ได้แก่
1. สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 3127 เรื่อง เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย (กังหันน้ำชัยพัฒนา) เป็นเครื่องกลเติมอากาศที่ใช้ในการเติมออกซิเจนลงในน้ำที่ระดับผิวน้ำ ถวายการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536
2. สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 10304 เรื่อง เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ เป็นเครื่องกลเติมอากาศใช้ในการเติมออกซิเจนลงในน้ำที่ระดับลึกลงไปใต้ผิวน้ำจนถึงด้านล่างของแหล่งน้ำ ถวายการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2544
3. สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 10764 เรื่อง การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล ถวายการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2544
4. อนุสิทธิบัตรเลขที่ 841 เรื่อง การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องยนต์สองจังหวะ เป็นการใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ทดแทนน้ำมันหล่อลื่นที่ได้จากน้ำมันปิโตรเลียมสำหรับเครื่องยนต์สองจังหวะ (เช่น เครื่องรถมอเตอร์ไซค์ เครื่องสูบน้ำ เป็นต้น) ถวายการรับจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2545
5. สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 13898 เรื่อง การดัดแปรสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝน (ฝนหลวง) เป็นกรรมวิธีการทำฝนหลวงที่มีการทำฝนทั้งในระดับเมฆอุ่นที่ระดับต่ำกว่า 1 หมื่นฟุต และเมฆเย็นที่ระดับสูงกว่า 1 หมื่นฟุต พร้อมๆ กัน ซึ่งทรงเรียกว่า "ซูเปอร์แซนด์วิช" ถวายการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2545
6. สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 14859 เรื่อง ภาชนะรองรับของเสียที่ขับออกจากร่างกาย เป็นภาชนะที่ทรงออกแบบไว้เป็นการเฉพาะสำหรับรองรับปัสสาวะของผู้ป่วย ถวายการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2546
7. สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 16100 เรื่อง อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลว เป็นเครื่องยนต์ที่ขับดันน้ำเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนเรือ ถวายการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2547
8. สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 22637 เรื่อง กระบวนการปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยวเพื่อให้เหมาะแก่การเพาะปลูก (โครงการแกล้งดิน) เป็นการปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยวที่ไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้ ให้เป็นดินที่มีสภาพที่เหมาะสมสำหรับปลูกพืชต่างๆ ได้โดยใช้วิธีการเลียนแบบธรรมชาติเพื่อแกล้งให้ดินมีสภาพเปรี้ยวจัดก่อน แล้วทำการชะล้างความเปรี้ยวของดิน และทำการปรับสภาพดินให้เหมาะแก่การเพาะปลูกต่อไป ถวายการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2550
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านประติมากรรม ทรงศึกษาค้นคว้าเทคนิควิธีการต่างๆ ในงานประติมากรรมด้วยพระองค์เอง ทั้งการปั้น การหล่อ และการทำแม่พิมพ์
งานประติมากรรมฝีพระหัตถ์ซึ่งเป็นประติมากรรมลอยตัว (Round Relief) เก็บรักษาไว้ในตู้บนพระตำหนักจิตรลดารโหฐานพระราชวังดุสิต มี 2 ชิ้น คือ รูปปั้นผู้หญิงเปลือยคุกเข่า ความสูง 9 นิ้ว และพระรูปปั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ครึ่งพระองค์ ความสูง 12 นิ้ว ทั้งสองชิ้นทรงปั้นด้วยดินน้ำมัน