จดจ่ออยู่กับงานให้ได้สิ!
- 12 ตุลาคม 2559 เวลา 17:38 น.
- รายงานข่าวโดย: Post Today | 1,292 viewed
คนที่นั่งอยู่ใกล้ๆ ในออฟฟิศเดียวกันพูดขึ้นมาว่า “ทุกวันนี้ อะไรๆ ก็สำคัญกว่าอะไรๆ ที่เรากำลังทำอยู่” นั่นเป็นเหตุผลให้เขาไม่สามารถจดจ่อกับงานที่อยู่ตรงหน้าได้ ใช่! หรือหรือบางทีก็ไม่ใช่ เนื่องจากเราเองที่เป็นผู้ให้ค่าหรือกำหนดว่าอะไรที่สำคัญหรือไม่สำคัญในชีวิต (การทำงาน) ของเรา นั่นหมายความว่า บางทีอาจเป็นเพราะเราเองที่ไม่รู้ว่าอะไรสำคัญ
แนวทางต่อไปนี้อาจทำตัดสินใจได้และจดจ่ออยู่กับงานได้
1. อย่ารับงานจนล้นมือ
อย่าไปรับผิดชอบเสียทุกเรื่องของงานที่กำลังอยู่รอบตัวเรา ให้คนที่รับผิดชอบโดยตรงได้ทำในส่วนนั้นๆ
2. ท่องจำกลยุทธ์ให้ขึ้นใจ
พยายามกันสิ่งที่จะมารบกวนต่อความมุ่งมั่นในการดำเนินตามกลยุทธ์และเป้าหมายที่ตั้งไว้ นี่เป็นเรื่องสำคัญที่เรากำหนดไว้แล้ว เพราะฉะนั้นเราจึงต้องจดจ่ออยู่กับเรื่องที่เราได้ไตร่ตรองและตัดสินใจอย่างดีมาเรียบร้อยแล้ว
3. ทำให้คนอื่นได้จดจ่ออยู่กับงานด้วย
ความจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ข้อหนึ่งก็คือ บางคนอาจมีสมาธิสั้น และหากเรารู้ว่าเป็นใครที่จดจ่ออยู่กับงานได้ไม่กี่นาที เราก็ควรช่วยเหลือคนเหล่านั้นด้วยการพูดให้ตรงจุดตรงประเด็น รวดเร็วและชัดเจน
4. เลือกเวลาที่ (คุณ) สามารถจดจ่อได้มากที่สุด
กำหนดเวลาทำงานที่เหมาะสมกับการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุดของตัวเองหรือตามลักษณะของงาน เช่น ถ้าเรากำลังต้องทำรายงานทางธุรกิจที่แหลมคมในช่วงระหว่างวันที่ยุ่งเหยิง รายงานที่เสร็จอาจขาดความแหลมคมอย่างที่ควรจะเป็น ผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนควรรู้ว่าช่วงเวลาใดที่ทำให้เราจดจ่อกับงานได้มากที่สุด ทั้งนี้ บนพื้นฐานของสถานการณ์และลักษณะงานในขณะนั้น รวมถึงระยะเวลาการทำงานที่เหลืออยู่ของงานนั้นๆ ด้วย
5. หลีกเลี่ยงหรือบังคับใจในสถานการณ์ที่ยากลำบาก
สาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้คนเราทุกวันนี้จดจ่ออยู่กับงานไม่ได้ คือ ปริมาณของข้อมูลที่ไหลบ่าเข้ามาในแต่ละวันในรูปของข้อความเสียง อีเมล โทรศัพท์มือถือ ข้อความสั้น การสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งรายงานข่าว 24 ชั่วโมงที่ดึงความสนใจจากงานไปอยู่ที่อื่นได้ทุกเมื่อ
วิกฤตในที่ทำงานอย่างอีเมลหรือเมสเซจจากโทรศัพท์มือถือ แม้จะเป็นสถานการณ์ที่ยุ่งเหยิงและยากลำบาก แต่หากจัดระบบข้อมูลข่าวสารในแต่ละวันได้ ก็เป็นเรื่องง่ายที่จะทำให้เราบริหารจัดการเวลาทำงานได้เช่นกัน บางคนใช้วิธีเช็คข้อมูลเป็นรอบๆ บางคนเช็คทุก 3 ชั่วโมง ทุก 5 ชั่วโมง หรือบางคนเช็กรอบครึ่งวัน บางคนไม่เช็กเลยเมื่อแน่ใจว่าไม่มีอะไรจะสำคัญกว่างานตรงหน้า ขึ้นอยู่กับลักษณะงานของแต่ละคน