ทำไมต้องมีเด็กฝึกงาน
- 31 พฤษภาคม 2559 เวลา 18:10 น.
- รายงานข่าวโดย: นสพ. M2F ฉบับวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 | 1 viewed
ช่วงนี้เริ่มเห็นหน้าน้องนักศึกษามาฝึกงานในออฟฟิศ แล้วเคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมทั้งในบริษัทขนาดเล็กขนาดใหญ่ หรือแม้แต่ในธุรกิจบริการร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ ยันสนามบิน ต้องมีนักศึกษาฝึกงาน ...มาร่วมไขข้อข้องใจเรื่องนี้กัน
ได้ทดลองก่อนซื้อ :
นอกจากการรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันการศึกษากับบรรดาบริษัทแล้ว การให้นักศึกษามาฝึกทำงานในองค์กรก็เปรียบเสมือนการได้ทดลองใช้สินค้าจริงก่อนตัดสินใจซื้อ นั่นคือการที่นักศึกษาเข้ามาฝึกงานในบริษัท อาจเป็นโอกาสอันดีที่บริษัทจะทดสอบความรู้ ความสามารถ ประสิทธิภาพ และความพร้อมในการทำงาน ซึ่งอาจตอบสนองความต้องการขององค์กรและรับเข้าทำงานทันทีเมื่อเรียนจบ ในทางกลับกันบรรดานักศึกษาก็จะได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน การฝึกระเบียบวินัย ความรับผิดชอบต่อตัวเอง ได้รู้ถึงบรรยากาศการทำงาน ระบบงาน วัฒนธรรมองค์กร การทำงานร่วมกับผู้อื่น การมีมนุษยสัมพันธ์ การทำงานตามที่ได้รับมอบหมายและได้ประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกเส้นทางอาชีพในฝันต่อไป
สร้างความเชื่อมั่นให้กับองค์กร :
นับเป็นการสร้างความเชื่อมั่นอย่างหนึ่งให้กับบุคคลภายนอก เมื่อบริษัทมีนักศึกษาเข้ามาฝึกงานในองค์กร เพราะความคิดเห็นของบุคคลภายนอกจะมองว่าสถาบันการศึกษาต้องกลั่นกรองลูกศิษย์เข้ามาฝึกงานในองค์กรที่พร้อมและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้พวกเขาได้เพิ่มทักษะความรู้ได้ประสบการณ์การทำงาน และมีความพร้อมก่อนที่จะเข้าสู่ชีวิตการทำงานจริง
ได้ทบทวนระบบการทำงาน :
การเข้ามาฝึกงานของนักศึกษาจะช่วยให้พนักงานในองค์กรเรียนรู้ที่จะทบทวนหน้าที่ของตัวเองในแต่ละตำแหน่งงาน เนื่องจากต้องมีการมอบหมายงาน สอนงาน และแก้ไขงานจากการฝึกงานของนักศึกษา ส่งผลให้แต่ละตำาแหน่งงานที่มีนักศึกษาฝึกงานมาช่วยสามารถทบทวนและตรวจสอบเนื้องานของตัวเองว่าส่วนไหนที่ยังไม่สมบูรณ์หรือยังขาดตกบกพร่อง พูดง่ายๆ ก็คือ ทำให้มีกระจกสะท้อนมองงานของตัวเอง ว่าส่วนไหนที่ต้องแก้ไขหรือเพิ่มเติม เพื่อให้ผลลัพธ์ของงานออกมาสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
มีมุมมองใหม่ :
แน่นอนว่าการมีคนใหม่ๆ เข้ามาร่วมงานในองค์กร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ย่อมทำให้องค์กรได้เห็นมุมมองใหม่หรือได้ไอเดียแปลกใหม่ เนื่องจากเด็กฝึกงานจะทำ หน้าที่ตามความสามารถ โดยอาจไม่ได้คำนึงถึงระบบหรือวัฒนธรรมขององค์กรบางอย่าง ทำให้กล้าที่จะนำเสนอความคิดใหม่ๆ ต่างกับพนักงานกลุ่มเดิมในบริษัทที่อาจไม่กล้านำเสนอแนวคิดบางอย่าง ทั้งอาจกลัวว่าจะทำเกินหน้าที่ หรือทำข้ามหน้าข้ามตาผู้ที่มีตำแหน่งงานสูงกว่า