กูรู Lean Startup เผยทริกสตาร์ทอัพยังไงให้ไปรอด
- 15 มีนาคม 2559 เวลา 12:59 น.
- รายงานข่าวโดย: นสพ. M2F ฉบับวันที่ 15 มีนาคม 2559 | 1 viewed
ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่หันมาทำธุรกิจสตาร์ทอัพกันมากขึ้น แต่ใช่ว่าทุกสตาร์ทอัพจะไปรอดทั้งหมด โดยผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า การทำสตาร์ทอัพในรูปแบบเดิม คือการคิดผลิตภัณฑ์ แล้วนำไปผลิต จากนั้นนำไปให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายทดลองใช้นั้น มีโอกาสต่อยอดไปได้เพียง 25% จึงมีการคิดค้นโมเดลธุรกิจสตาร์ทอัพรูปแบบใหม่ ที่ช่วยลดความเสี่ยงทางการตลาดซึ่งเรียกว่า Lean Startup
Lean Startup นั้นจะมุ่งเน้นการลดสิ่งที่ไม่จำเป็นเพื่อประหยัดทรัพยากร แต่ยังคงไว้ซึ่งคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคต้องการ ต่างจากสตาร์ทอัพแบบเดิมตรงที่ Lean Startup จะเริ่มจากการคิดไอเดียผลิตภัณฑ์ขึ้นมาหรือทดลองผลิตสินค้าต้นแบบ (Prototype) ขึ้นมาก่อน แล้วค่อยนำไปทดลองกับกลุ่มลูกค้า เป้าหมายให้มากที่สุด เพื่อสำรวจว่ามีคนอยากซื้อไอเดียของเรามากแค่ไหน ซึ่งการคุยกับลูกค้าอาจทำให้เจ้าของไอเดียได้แนวคิดใหม่ๆ หรือมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนา ปรับปรุงสินค้า แล้วผลิตออกมาจำหน่าย
วิธีดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาที่สตาร์ทอัพส่วนใหญ่พบ คือ ลงทุน ลงแรงไปแล้วแต่กลับไม่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคจนสุดท้ายต้องเลิกกิจการ
แม้ Lean Startup จะช่วยให้การเริ่มธุรกิจมีแนวโน้มประสบความสำเร็จได้มากขึ้น แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง จึงมีผู้เชี่ยวชาญ ก่อตั้งบริษัทเฉพาะเพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้เริ่มประกอบการให้ผลิตสินค้าที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือ ลีน สตาร์ทอัพ คอมพานี (Lean Startup Company) ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย ฮีทเธอร์ แม็กกอฟ ที่มีประสบการณ์การให้คำแนะนำทั้งองค์กรและปัจเจกบุคคลมาอย่างโชกโชน
และนี่คือหลัก 6 ข้อที่ แม็กกอฟ แนะนำแก่สตาร์ทอัพมือใหม่
1. รู้จักตั้งคำถาม เนื่องจากการตั้งคำถามจะกระตุ้นให้เจ้าของสตาร์ทอัพเกิดไอเดียธุรกิจใหม่ๆ ที่นำไปพัฒนาและต่อยอดสินค้าที่มีอยู่ได้
2. เปลี่ยนแปลง ทุกบริษัทต้องการความเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากยุคนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็วกว่าสมัยก่อน ดังนั้น ทั้งบริษัทและตัวผู้คนต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เพื่อให้ยังมีที่ยืนอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้นๆ ตัวอย่างเช่น กลยุทธ์ที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งใช้ขณะเริ่มต้นธุรกิจ กับกลยุทธ์การเพิ่มรายรับหลังจากก่อตั้งมาสักระยะหนึ่ง แล้วย่อมแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะหลีกเลี่ยงอย่างไร การเปลี่ยนแปลงก็จะต้องเกิดขึ้น
3. เมื่อทุกคนรับผิดชอบ หมายถึง ไม่มีใครรับผิดชอบปัญหาใหญ่ของธุรกิจคือความรับผิดชอบ หากไม่กำหนดความรับผิดชอบของแต่ละคนให้ชัดเจน ธุรกิจอาจเดินหน้าต่อไปไม่ราบรื่น ดังนั้น จึงต้องมีคนใดคนหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการตัดสินใจ
4. วางแนวทางไม่ใช่ควบคุม การควบคุมคือการทำตามกรอบที่กำหนดไว้ ในกรณีนี้อิสระทางความคิดจะถูกปิดกั้น ในขณะที่การแนะแนวทางคือ การกำหนดผลลัพธ์ขั้นสุดท้าย ส่วนวิธีว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้บรรลุผลนั้น ปล่อยให้แต่ละคนมีอิสระอย่างเต็มที่ แต่ในบางสถานการณ์ก็ต้องมีการควบคุม เช่น ในกรณีที่เวลาคือ สาระสำคัญหรือมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง
5. คุยกับลูกค้า เพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันกับคู่ต่อสู้ได้ เราจำเป็นต้องรู้ว่าสินค้าตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าหรือไม่ โดยวิธีที่ดีที่สุดหนีไม่พ้นการลงเก็บข้อมูลภาคสนามจากลูกค้าโดยตรง
6. รู้จักและเข้าใจจุดยืนของคนในบริษัท แล้วจัดแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้ตรงกับความถนัดของแต่ละบุคคล
ต้นฉบับของธุรกิจที่ใช้หลักการ Lean Startup
Dropbox บริการพื้นที่เก็บไฟล์ออนไลน์อันโด่งดัง เริ่มจากการทำคลิปวิดีโออธิบายการใช้งานบริการของตัวเองขึ้นมา แล้วนำไปแชร์ในหมู่คนที่ชื่นชอบ เทคโนโลยีเพื่อขอความคิดเห็น แต่ปรากฏว่า มีคนให้ความสนใจ บริการฝากไฟล์มากมาย ทำให้ผู้ก่อตั้งทราบว่าไอเดียของตัวเอง เป็นที่ต้องการโดยที่ยังไม่ต้องทำสินค้าจริงออกมา
Zappos.com ร้านขายรองเท้าออนไลน์ยักษ์ใหญ่ ที่เริ่มต้นจากการตระเวนไปตามร้านขายรองเท้าในท้องถนน แล้วถ่ายภาพรองเท้าแต่ละคู่ก่อนจะนำภาพไปโพสต์จำหน่ายในเว็บไซต์ เมื่อมีลูกค้าสั่งจอง จึงค่อยไปซื้อรองเท้าแล้วค่อยส่งให้ลูกค้า
GROPON เว็บไซต์ให้บริการดีล ซื้อสินค้าและบริการจากทั่วโลก ก็นำโมเดลของ Lean Startup มาใช้ด้วยการทดสอบไอเดียขายคูปองซื้อพิซซ่า จากร้านพิซซ่ารอบๆ ที่ตั้งบริษัทในบล็อก Word Press หากลูกค้าคนใดสนใจซื้อดีลก็จะจัดการส่งคูปองผ่านอีเมล