Bangkok post> Jobs > Career guide

7 อาชีพแห่งอนาคต

  • 13 พฤษภาคม 2559 เวลา 18:03 น.
  • รายงานข่าวโดย: Post Today | 1 viewed

 


     หลายคนบอกว่าการวิ่งไล่ล่าอนาคตเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนที่เติบโตขึ้นมาในยุคนี้ เพราะแค่กะพริบตา ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าตกตะลึง ด้วยความไวของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ไม่เคยรอใคร พร้อมที่จะทิ้งทุกคนไว้ข้างหลัง

     เว็บไซต์ Mashable ได้ประมวลอาชีพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผ่านบทความที่มีชื่อว่า “7 unbelievable job titles that will actually exist in 10 years” เขียนโดย PEPSICO ซึ่งอาชีพที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้น คือ

     1.นักบำบัดการติดดิจิทัล (Digital Detox Therapist)
ในปัจจุบันมีหลายประเทศเริ่มนำเสนอการท่องเที่ยวเพื่อบำบัดการติดดิจิทัลแล้ว เช่น ญี่ปุ่น สกอตแลนด์ เป็นต้น ดังนั้นพัฒนาการต่อไปอาจนำไปสู่ความต้องการนักบำบัดที่เข้าใจความต้องการส่วนบุคคล อยู่ใกล้ตัวและสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ในยุคที่ผู้คนและสิ่งของต่างๆ มีการเชื่อมต่อกับโลกดิจิทัลแบบไฮเปอร์มากขึ้น (Hyperconnectivitiy) จนไม่สามารถแยกหรือปิดกั้นตัวเองจากความตึงเครียดที่เกิดจากการอยู่ในพื้นที่ไซเบอร์ได้


     2.ผู้เชี่ยวชาญด้านการระดมทุน (Crowd Funding Specialist)
ทุกวันนี้มีช่องทางการระดมทุน เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างหลากหลายเกิดขึ้นอย่างมากมาย ในอนาคต เมื่อถึงจุดที่ช่องทางระดมทุนเหล่านี้ไม่มีความแตกต่างอย่างเด่นชัด ในแง่ของผลประโยชน์หรือความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนมีความต้องการสร้างช่องทางการระดมทุนที่เข้าถึงกลุ่ม เป้าหมายได้อย่างตรงเป้า ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้อาจเป็นที่ต้องการ เพื่อให้คำแนะนำการระดมหรือลงทุน ไม่ต่างจากที่ปรึกษาทางการเงินในปัจจุบัน

     3.ผู้ให้แนะนำด้านการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Productivity Counselor)
เชื่อว่าวัยทำงานหลายคนคงต้องเคยประสบปัญหาในการทำงานไม่มากก็น้อย ผู้ให้คำแนะนำด้านนี้จะมีมุมมองแบบ outsidein ช่วยให้คำปรึกษาได้ว่าเราจะยกระดับประสิทธิภาพการทำงานให้สูงขึ้นได้อย่างไร ตั้งแต่ใช้เครื่องมือ tracking เฝ้าติดตาม ไปจนถึงแนะนำการปรับเปลี่ยนสรีระท่าทางในการนั่งทำงาน หรือพฤติกรรมระหว่างการทำงาน เป็นต้น อย่างไรก็ตามพนักงานต้องยอมรับข้อบกพร่องในที่ทำงานของตนเสียก่อน จึงจะเห็นความต้องการขอคำแนะนำในเรื่องนี้

     4.เกษตรกรเมือง (Urban Shepherd)
วิชาชีพนี้จะอยู่ในความต้องการ เมื่อถึงจุดที่ประชากรเมืองต้องการทำฟาร์มในเมือง (Urban farming) หรือทำฟาร์มแนวตั้ง (Vertical farming) ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มจำนวนประชากรเมืองที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่เมืองทุกตารางเมตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งมีกระแสที่คนเมืองเริ่มแสวงหาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อลดระยะทางการขนส่งสินค้าที่เน่าเสียง่ายและลดของเสีย เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) และความโปร่งใสชัดเจนในแง่ที่มาของผลิตภัณฑ์ต่างๆ

     5.นักถ่ายวิดีโอตัวแทน (Vicarious Videographer)
การทำอาชีพโลดโผนผจญภัยเพื่อถ่ายวิดีโอให้นักสำรวจที่บ้านได้รับชมอาจไม่เกิดขึ้นเลยก็เป็นได้ เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) ช่วยให้มนุษย์เราสามารถไปที่ใดหรือเป็นอะไรก็ได้ที่ลักษณะทางกายภาพไม่เอื้ออำนวย เช่น ผู้สูงอายุที่เดินเหินไม่สะดวก ใช้อุปกรณ์ AR สำหรับท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมบางอย่างที่ไม่สามารถทำได้ในชีวิตจริง ขณะที่ผู้รักการผจญภัยสามารถเป็นนักไต่เชือกผ่านการสวมใส่อุปกรณ์เหล่านี้ได้เช่นกัน

 


     6.เทรนเนอร์ส่วนตัวบนฐานข้อมูล (Quantified-Self Personal Trainer)
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี Wearable ที่ช่วยวัดชีพจร อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการเผาผลาญแคลอรี ระยะทาง และอื่นๆ แบบ real-time อาจทำให้เกิดเทรนเนอร์ประเภทที่พึ่งพาข้อมูลตัวเลขมากขึ้นในการให้คำแนะนำแก่ผู้ออกกำลังกายที่ใส่ใจตัว ชี้วัดต่างๆ ที่เกี่ยวกับร่างกายเป็นพิเศษ

     7.ผู้ให้คำแนะนำการสร้างทักษะใหม่ (Cultural Intelligence Agent)
ผู้ที่จะมีคุณสมบัติในอาชีพนี้ได้ จำเป็นต้องเข้าใจความต้องการส่วนบุคคลในการสร้างขีดความสามารถใหม่ๆ ที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากตำแหน่งหรือทักษะที่มี อยู่ในตลาดแรงงาน อีกทั้งจำเป็นต้องมี บทเรียนหรือแนวทางในการสร้างทักษะดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจาก ไม่มีแบบอย่างที่เป็นรูปธรรม นอกเสียจากอาศัยการอ้างอิงบุคคลที่มีเอกลักษณ์ในหลายสาขาเข้าด้วยกัน