Bangkok post> Jobs > Career guide

สานฝันออมเงินเที่ยวแบบมนุษย์เงินเดือน

 

     หนึ่งในฝันของคนทำงาน นอกจากเพื่อให้ครอบครัวสุขสบายแล้ว ต้องมีการท่องเที่ยวมาเกี่ยวข้อง ยิ่งโลกของเรามีสายการบินที่เดินทางได้ในราคาประหยัด มีสมาร์ทโฟนถ่ายรูปโชว์ภาพวิวสวยๆ อาหารจานเด็ด รวมไปถึงเซลฟี่ตัวเองได้ ใครๆ ก็อยากแชร์เรื่องราวต่างๆ ผ่านโลกออนไลน์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งหมดที่กล่าวมาต้องแลกด้วยเม็ดเงิน แล้วพนักงานออฟฟิศที่ชีวิตรับเงินรายเดือนอย่างเราจะทำอย่างไรได้บ้าง ลองมาวางแผนกัน

1. แบ่งสันปันเงินเดือน

เงินเดือนมีเท่าไหร่เอามาคิดคำนวณ แล้วกันเงินส่วนหนึ่งไว้ฝากประจำ ท่องไว้ในใจเลยว่าบัญชีนี้ฝากไว้สำหรับเที่ยว ห้ามถอนออกมาช็อปปิ้งหรือใช้ฟุ่มเฟือยก่อนถึงเวลา โดยเก็บไว้ 10% ของเงินเดือน ลองคิดเล่นๆ ว่า ถ้าเงินเดือน 15,000 เก็บ 1,500 ใน 1 ปี จะมีเงินเก็บส่วนนี้ 18,000 บาท พอไปเที่ยวในประเทศหรือประเทศเพื่อนบ้านก็ยังได้ หากเงินเดือนน้อยหรือเพิ่งจบใหม่ ก็อดทนเก็บสักนิด ไม่ต้องรีบสะสมไมล์ไปไกลนัก ลองเริ่มเก็บสะสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ ก่อนดีกว่า

2. วางแผนระยะยาว

คิดไว้ตั้งแต่ต้นว่าเป้าหมายปีนี้ของเราคือที่ไหน เพื่อคำนวณเงินที่จะต้องใช้จ่ายระหว่างทริป ถ้ามีจุดหมายที่ชัดเจนแล้วจะทำให้มองเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าต้องเก็บออมเดือนละเท่าไหร่ เพื่อให้ไปถึงจุดหมายนั้น โดยคำนึงถึงรายได้ อย่าเพิ่งฝันถึงดินแดนไกลโพ้นที่ต้องใช้เงินเป็นเรือนแสน เพราะการท่องเที่ยวที่ดีไม่ควรจะกระทบกับเงินในกระเป๋า สร้างภาระหนี้สินหรือต้องหยิบยืมใคร

3. อย่าลืมค่าใช้จ่ายยิบย่อย

เวลาจะไปเที่ยวแต่ละที การคำนวณค่าใช้จ่ายเป็นอีกสเต็ปที่สำคัญมาก เพราะค่าใช้จ่ายระหว่างเที่ยวไม่ได้จบแค่ค่าตั๋วเครื่องบินและที่พัก แต่ยังรวมไปถึงค่าเดินทางเมื่อเราไปถึงที่นั่นแล้ว ค่าเข้าชม ค่าอาหารและเครื่องดื่ม เงินช็อปปิ้งและของฝาก เพื่อให้ทริปนั้นมีความเป็นไปได้ยิ่งขึ้น ลองตัดรายการที่ไม่จำเป็นออกบ้าง และอย่าลืมเผื่องบสำหรับเหตุฉุกเฉิน เพราะอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้

4. ไขว่คว้าล่าโปรโมชั่น

ในยุคไร้สาย อำนาจการเลือกซื้อกลับมาอยู่ในมือผู้บริโภคมากขึ้น เพราะมีแหล่งให้ลูกค้าเข้าไปหาข้อมูลข่าวสารหลายช่องทาง ทั้งเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น หรือตามงานแฟร์ งานไทยเที่ยวไทย ซึ่งมักมีแพ็กเกจทัวร์ลดราคาจากบริษัททัวร์และโรงแรมมาให้เลือกมากมาย ช่วยลดค่าใช้จ่ายระหว่างเที่ยวไปได้เยอะ ยิ่งถ้าเราทำแผนการเดินทางไว้ก่อนแล้ว จะทำให้ซื้อตั๋วหรือแพ็กเกจตามแผนในราคาโปรโมชั่นได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ลองเลือกให้ดีๆ เพราะของถูกของดีก็ยังมีในโลก

5. ใช้บัตรเครดิตและแต้มสะสมให้เป็นประโยชน์

สายการบิน โรงแรมชั้นนำต่างๆ รวมไปถึงแบรนด์สินค้า ร้านอาหาร และอื่นๆ มักมีโปรโมชั่นกับบัตรเครดิตเกือบทั้งปี ลองเปรียบเทียบแล้วนำมาใช้จ่ายเป็นส่วนลด หรือรับของแถมให้เป็นประโยชน์ ถ้ามีแต้มที่สะสมก็แลกมาใช้ดูบ้าง อย่ามัวแต่เก็บจนลืมใช้ เพราะหลายบัตรก็ตัดแต้มเป็นปี ถ้าลืมไป...เสียดายแย่

6. มีวินัยต่อแผนที่ตั้งไว้

เมื่อตั้งใจไว้แล้วว่าจะต้องมีเงินออมเพื่อเที่ยวหรือจัดสรรเรื่องเงินไว้อย่างไร ก็ควรทำให้ได้ตามนั้นโดยเคร่งครัด หากไม่ได้มีเหตุจำเป็นก็ไม่ควรทำตามใจตัวเองจนเสียแผน เพราะนอกจากจะไม่มีเงินไปเที่ยวแล้ว ยังจะพานไม่เหลือเงินเก็บเงินออมอีกด้วย

7. หารายได้พิเศษ

การขายของที่ไม่ได้ใช้แล้ว อย่างหนังสือ กระเป๋าแบรนด์เนม เครื่องประดับ ซึ่งตอนนี้สามารถขายผ่านอินเทอร์เน็ตได้ง่ายๆ หรือลองสำรวจตัวเองว่ามีความถนัดอะไร เช่น เป็นครูสอนเต้นรำ ว่ายน้ำ โยคะ สอนหนังสือเด็ก รวมถึงศึกษาเรื่องการลงทุนในหุ้น เพื่อเป็นอีกทางหนึ่งในการหารายได้เพิ่ม