Bangkok post> Jobs > Career guide

ฟรีแลนซ์ยังไง ให้รอดและรุ่ง

 

     ยุคสมัยนี้ อาชีพฟรีแลนซ์ หรือการทำงานอิสระ กลายเป็นหนึ่งอาชีพในฝันของคนรุ่นใหม่ เพราะอาชีพนี้มีความเป็นอิสระ ไม่ต้องคอยรับคำสั่งจากเจ้านาย ไม่ต้องฝ่าฟันการจราจรติดขัดทั้งช่วงเช้าและช่วงเย็น แต่งานประเภทนี้อาจไม่ง่ายอย่างที่หลายคนคิด กว่าจะประสบความสำเร็จนั้นต้องแลกมาด้วยอะไรหลาย ทั้งการทำงานหนักไม่มีวันหยุด หรือรายได้ที่ไม่ค่อยแน่นอน ทั้งยังต้องตัดสินใจทุกเรื่องคนเดียว

     ริชาร์ด อากู หนุ่มนักเขียนฟรีแลนซ์ชาวไนจีเรีย เล่าประสบการณ์การเป็นเจ้านายตัวเองของเขาว่า ฟรีแลนซ์ไม่ใช่เรื่องง่าย และยิ่งยากขึ้นไปอีกหากอาศัยอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างไนจีเรียบ้านเกิดของเขา เนื่องจากประเทศในทวีปแอฟริกานี้ยังขาดแคลนกระแสไฟฟ้า ทำให้การทำงานไม่ค่อยราบรื่น แต่ปัญหานี้ไม่ได้หยุดยั้งความพยายามของ อากู จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาสามารถหารายได้หลักล้านบาทได้ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี ความสำเร็จที่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อและความล้มเหลว ทำให้ อากู ได้รับบทเรียนมากมาย โดยนำมาแบ่งปันไว้ ดังนี้

     ➤ ทำงานหนัก คนทำงานฟรีแลนซ์ต้องทุ่มเทเวลาให้กับงานอย่างเต็มที่ ไม่เว้นแม้แต่วันหยุดเพื่อให้ส่งงานได้ตามกำหนดที่รับปากลูกค้าไว้ อากู เล่าว่า ประโยคที่เปลี่ยนมุมมองของเขาต่ออาชีพนี้ มาจากวลีเด็ดของ เอลัน มัสค์ ที่ว่า “คุณต้องทุ่มเทเวลาให้กับงาน 80-100 ชม.ต่อสัปดาห์ ดังนั้น หากคนอื่นทำงานสัปดาห์ละ 40 ชม. แต่คุณทำสัปดาห์ละ 100 ชม. ถ้าคุณกับเขาทำงานแบบเดียวกัน เท่ากับว่าคุณจะทำสำเร็จภายใน 4 เดือน แต่คนอื่นกลับต้องทำถึง 1 ปี จึงจะได้เนื้องานเท่ากับคุณ”

     ➤ ลดขั้นตอนการทำงาน เพื่อให้มีเวลาเหลือเพียงพอในการนั่งใช้ความคิดทบทวนเรื่องต่างๆ ซึ่งเจ้าของกิจการส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีเวลาทำเท่าใดนัก ข้อนี้ อากู แก้ปัญหาของเขาด้วยการจ้างคนที่ไว้ใจต่ออีกทอดหนึ่ง หรือดึงคนที่เขาเคยให้คำแนะนำมาช่วยงาน ทำให้ อากู มองเห็นภาพรวมของธุรกิจได้ชัดเจนขึ้นโดยใช้สายตาของคนนอกมองเข้าไป เปรียบได้กับการเล่นหมากรุกที่คนนอกมักเห็นช่องว่างของเกมได้มากกว่าคนที่กำลังอยู่ในเกม

     ➤ โลกธุรกิจไม่มีเวทมนตร์ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เช่นเดียวกับการเล่นหมากรุกที่หากเดินผิดพลาดเพียงครั้งเดียว อาจทำให้เพลี่ยงพล้ำทั้งกระดานที่เหลือ ดังนั้น ต้องรู้จักเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเสมอ เช่น รายได้ที่บางเดือนอาจจะเข้ามามาก หรือบางเดือนอาจไม่มีเลย อากู แนะนำว่า ฟรีแลนเซอร์ต้องขบคิดถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นทุกสถานการณ์ที่เป็นไปได้ แล้วเตรียมวิธีรับมือไว้ นอกจากจะช่วยให้มองเห็นปัญหาในอนาคตแล้ว การทำงานที่ไม่ผิดพลาดยังทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าตัวเองได้รับการดูแลอย่างดีจากคุณ

     ➤ พัฒนาทักษะ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงาน เหตุผลที่บริษัทใหญ่ๆ เติบโตอย่างยั่งยืนคือพวกเขามักจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อชักชวนคนที่มีศักยภาพมาช่วยขับเคลื่อนบริษัท ดังนั้น ในฐานะพนักงานฟรีแลนซ์ คุณจะต้องพัฒนาความสามารถของตัวเองในฐานะที่เป็นพนักงานคนเดียวของบริษัท นอกจากนี้ ยังต้องเรียนรู้ทักษะด้านอื่นเพิ่มเติม ที่จะช่วยส่งเสริมความสามารถที่คุณมีอยู่ให้ยิ่งเชี่ยวชาญ ทั้งยังจะเป็นการกระจายความเสี่ยง ซึ่งหากวันหนึ่งงานด้านใดด้านหนึ่งล้มลง คุณก็ยังมีธุรกิจด้านอื่นรองรับ